โปรแกรมวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน

26/11/2567 13:29:54 | Views: 2,753

• โรคบาดทะยัก (Tetanus) 
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อที่มีอยู่ตามสิ่งแวดล้อม  พิษของเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล ทำให้มีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ชักกระตุก  หายใจลำบากจนเสียชีวิตได้  โรคบาดทะยักยังพบได้ในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ มักพบในผู้ที่มีบาดแผลจากอุบัติเหตุ

• โรคคอตีบ (Diphtheria)
เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ทำให้ลำคออักเสบรุนแรง  เกิดเป็นพังผืดอุดกั้นทางเดินหายใจ นอกจากนี้การติดเชื้อยังอาจทำให้หัวใจวาย  ติดต่อได้ง่ายโดยเชื้อแพร่มาจากลำคอของผู้ที่เป็นพาหะโดยการไอ จาม และพูดคุยกัน

• ​โรคไอกรน (Pertussis)
เป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella pertussis เชื้อดังกล่าวทำให้เกิดอาการไอที่ควบคุมไม่ได้อย่างรุนแรง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้น สิ่งที่น่ากังวลคือผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อไอกรนอาจแพร่เชื้อไปสู่เด็กทารกซึ่งมีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะเกิดอาการรุนแรงจนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

ในทารกหรือเด็กเล็กที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน  อาจมีอาการไอถี่ๆซ้อนติดกันหลายครั้งเป็นชุด จนเด็กหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ แล้วมีอาการหายใจเข้าลึกๆ เกิดเป็นเสียงวู๊ป (Whooping cough) สลับกันกับการไอเป็นชุดและอาจไอเรื้อรังได้นานถึง 2-3 เดือน  เกิดภาวะแทรกซ้อนเช่น การหยุดหายใจ ชัก และมีอัตราตายสูง 

ระยะฟักตัวของโรค
ประมาณ 6-20 วัน (พบบ่อย 7-10 วัน) ถ้าสัมผัสโรคมาเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่มีอาการ แสดงว่าไม่ติดโรค

อาการของโรคไอกรน
แบ่งได้เป็น 3 ระยะ :
1. ระยะแรก (Catarrhal stage) 1-2 สัปดาห์แรก : มีน้ำมูก ไอแห้งๆ (เกิน 10 วัน) อาจมีไข้ต่ำๆ ตาแดง  น้ำตาไหล ระยะนี้ส่วนใหญ่ยังวินิจฉัยโรคไอกรนไม่ได้
2. ระยะรุนแรง (Paroxysmal stage) เริ่มสัปดาห์ที่ 3 (นานอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์) : มีอาการของ Whooping Cough (ไอถี่ๆ ติดกันเป็นชุด มีอาการหายใจเข้าลึกๆ ทำให้เกิดเสียงวู๊ป หน้าตาแดง น้ำมูกน้ำตาไหล ตาถลน ลิ้นจุกปาก เส้นเลือดที่คอโป่งพอง หน้าเขียว (อาจจะเกิดจากเสมหะอุดทางเดินหายใจได้) &  อาเจียนหลังไอ ) ส่วนใหญ่จะพบในทารก / เด็กเล็ก
3. ระยะฟื้นตัว (Convalescent stage) : อาการไอจะลดลงทั้งความรุนแรงและจำนวนครั้ง ใน 2-3 สัปดาห์ อาการไอเป็นชุดๆ จะค่อยๆลดลง แต่จะยังมีอาการไอต่ออึกหลายสัปดาห์ (ประมาณ 6-10 สัปดาห์)

ภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ปอดอักเสบ, เลือดออกในเยื่อบุตา, จุดเลือดออกที่หน้าและในสมอง, อาการชักเนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง และอาจมีเลือดออกในสมอง ทำให้เสียชีวิตได้

• มาตรการสำคัญในการป้องกันและควบคุมโรค คือ การให้วัคซีนป้องกันไอกรน
วัคซีนป้องกันไอกรนที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 ชนิดหลัก คือ ชนิดเต็มเซลล์ และชนิดไม่มีเซลล์ โดยมีการฉีดวัคซีนตามช่วงอายุที่กำหนดอย่างชัดเจน สำหรับวัคซีนชนิดเต็มเซลล์ จะรวมอยู่ในวัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP) เช่นเดียวกับวัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ DTaP และมีการฉีดตามกำหนดการที่อายุ 2, 4, 6, 18 เดือน และ 4-6 ปี 

  • สำหรับทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ควรได้รับ วัคซีน DTaP (หรือฉีด Tdap ตอน 4-6 ปี เป็นเข็มที่ 5 เพื่อลดอาการปวดได้)
  • สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 10-12 ปีขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่ สามารถรับวัคซีนเข็มกระตุ้น Tdap บาดทะยัก-คอตีบ-ไอกรน (แบบไร้เซลล์) ได้ และควรฉีดกระตุ้นซ้ำทุกๆ 10 ปี

และที่สำคัญ แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสูติแพทย์ ส่วนใหญ่จะฉีดระหว่าง 27-36 สัปดาห์) ฉีดวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนแบบไร้เซลล์สำหรับผู้ใหญ่ (Tdap) 1 ครั้ง เพื่อให้ภูมิคุ้มกันผ่านไปยังทารกและช่วยป้องกันโรคไอกรนในช่วงแรกเกิด