กรดยูริกมาจากไหน กรดยุริกมาจาก 2 แหล่ง คือจากกระบวนการซ่อมสร้างสลายเซลล์ตามปกติในร่างกาย อีกส่วนหนึ่งมาจากการรับประทานที่ทำให้กรดยูริกสูงขึ้น ซึ่งกลไกตามธรรมชาติกรดยูริกส่วนใหญ่จะถูกขับออกทางปัสสาวะ
ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคเกาต์
ปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงและนำไปสู่โรคเกาต์ ได้แก่ ความอ้วน โรคไตเรื้อรัง กรรมพันธุ์ การรับประทานยาบางอย่างที่ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูง เช่น ยาไฮโดรคลอโรไทอาไซด์ ยาไพราซินาไมด์ เป็นต้น การรับประทานอาหารบางชนิดมากเกินไปเป็นระยะเวลานาน เช่น เหล้าเบียร์ เนื้อแดง และน้ำหวาน ก็ส่งผลให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงได้เช่นกัน
อาการ
มักจะมีอาการข้ออักเสบ ปวด บวม แดง ร้อน มักพบในผู้ป่วยอายุเกิน 35 ปี ข้อที่มีอาการอักเสบได้บ่อยที่สุดได้แก่ ข้อเท้า ข้อนิ้วหัวแม่เท้า และข้อเข่า ระยะแรกมักจะเป็นที่ข้อเดียว การอักเสบอาจจะเกิดขึ้นภายหลังการดื่มเหล้า ออกกำลังกาย หรือเท้าไปเดินสะดุด เป็นต้น
อาการปวดอาจจะรุนแรงจนผู้ป่วยเดินไม่ได้ หรือขยับข้อนั้น ๆ ไม่ได้เลย อาการปวดข้อจะรุนแรงมากใน 2-3 วันแรก ต่อมาจะค่อย ๆ ทุเลาลงและหายเป็นปกติเมื่อการอักเสบลดลง ผู้ป่วยจะเป็นปกติต่อไปอีกจนกว่าจะมีระดับกรดยูริกที่สุงขึ้น หรือผลึกกรดยูริกตกตะกอนอีก ก็จะมีอาการอักเสบเช่นนี้อีก ระยะต่อมาอาการปวดข้อจะเป็นบ่อยขึ้นและระยะเวลาที่ปวดจะยาวนานออกไป
ในระยะเรื้อรังผู้ป่วยอาจจะมีการอักเสบของข้อหลาย ๆ ข้อพร้อมกันได้ อาการปวดข้อจะรุนแรง มักไม่หายได้เอง ระยะนี้ผู้ป่วยจะสังเกตุว่าเริ่มมีปุ่มหรือก้อนนูนขึ้นบริเวณหรือใกล้บริเวณข้อที่เคยอักเสบ และก้อนจะโตขึ้นเรื่อย ๆ บางครั้งก้อนจะแตกออกมีสารขาว ๆ คล้ายผงชอล์ค หรือ แป้งดินสอพองไหลออกมา
ระยะสุดท้ายจะพบมีปุ่มก้อนของผลึกกรดยูริกสะสมอยู่ตามข้อเอ็น กล้ามเนื้อและใต้ผิวหนังทั่ว ๆ ไป ข้อจะอักเสบเรื้อรังและผิดรูปเนื่องจากผลึกกรดยูริกไปทำลายโครงสร้างต่าง ๆ ของข้อได้
การรักษา ยารักษาโรคเกาต์ มี 2 ประเภท
ประเภทแรก ยาช่วยลดการอักเสบและลดอาการปวด
ประเภทที่สอง ยาช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากโรคเกาต์โดยลดระดับยูริกในเลือดให้สมดุล
วิธีรักษาโรคเกาต์ โดยไม่ต้องใช้ยา
การรักษาโดยวิธีไม่ใช้ยาสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกี่ยวกับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มร่วมกับการดูแลโรคร่วม และปัจจัยเสี่ยงของโรคเกาต์
- ขณะมีอาการข้ออักเสบกำเริบควรเลือกรับประทานโปรตีนจาก ไข่ เต้าหู้ นมและผลิตภัณฑ์จากนมที่มีไขมันต่ำ
- ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ทุกชนิด รวมถึงอาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่ปลายอดผักต่างๆ
- ลดการรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจัด น้ำผลไม้และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลฟรุกโตส เช่น ชาเขียวพร้อมดื่ม
- งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ควรดื่มน้ำ อย่างน้อย 8 แก้วต่อวัน
หากท่านรับประทานอาหารชนิดใดแล้วมีอาการข้ออักเสบให้หลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นๆ เพื่อป้องกันข้ออักเสบ
การป้องกันโรคเกาต์
ควบคุมการรับประทานอาหาร: จำกัดการบริโภคอาหารที่อุดมด้วยพิวรีน เช่น เนื้อแดง เครื่องใน อาหารทะเล และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเลือกรับประทานอาหารที่อุดมด้วยผลไม้ ผัก เมล็ดธัญพืช และนมไขมันต่ำ ดื่มน้ำให้เพียงพอ: การดื่มน้ำมากๆ จะช่วยชะล้างกรดยูริกและลดความเสี่ยงของการเกิดผลึกในข้อต่อ
การควบคุมน้ำหนัก : การลดน้ำหนักส่วนเกินสามารถลดระดับกรดยูริกและลดความเสี่ยงต่อโรคเกาต์
งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : แอลกอฮอล์สามารถรบกวนการกำจัดกรดยูริกได้ ดังนั้นควรบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะหรือหลีกเลี่ยงโดยสิ้นเชิง
ออกกำลังกายเป็นประจำ : การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสามารถช่วยควบคุมน้ำหนักและปรับปรุงสุขภาพโดยรวม ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคเกาต์
อุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาและสวมใส่ได้เพื่อบันทึกการเต้นของหัวใจและตรวจหาจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ที่เรียกว่า Echocardiogram,Echocardiography หรือ Echo นั้นเป็นการตรวจเพื่อประเมินประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจ
Copyright @ 2021. All Rights Reserved By Intrarat Hospital