หน้าแรก ศูนย์รักษา ศูนย์หัวใจ Heart center
ศูนย์หัวใจ Heart center

ศูนย์หัวใจ Heart center

 

สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจเกิดจากอะไร

สาเหตุของการเกิดโรคหัวใจมาจากหลากหลายสาเหตุ แบ่งออกเป็นหลายประเภท ที่พบได้บ่อยในประเทศไทย

          จะเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคผนังกล้ามเนื้อหัวใจโต หรือเรียกว่าหัวใจโต โรคหัวใจบีบตัวน้อย และโรคหัวใจล้มเหลว

          ส่วนใหญ่จะเกิดจากพันธุกรรมที่สืบทอดกันมา ปัจจัยที่สอง เกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้มีไขมันในเลือดมากขึ้น พอมีไขมันมากขึ้นทำให้ไขมันไปเกาะตามหลอดเลือด นานวันจะกลายเป็นแคลเซียมหรือหินปูนเกาะที่ผนังหลอดเลือดทำให้เลือดหัวใจตีบแคบลง

สาเหตุนี้ทำให้เลือดที่จะไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ผิดปกติทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในอนาคต

 

โรคหัวใจขาดเลือด (Coronary artery disease)

          แบ่งเป็น 2 กลุ่ม หลักๆ คือ

  • 1. โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเฉียบพลัน มีสาเหตุมาจากการอุดตันทันทีของเส้นเลือดที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ ผู้ป่วยมักจะมีอาการเจ็บแน่นกลางหน้าอกขึ้นมาทันที ลักษณะคล้ายของหนักมาทับ ร้าวไปแขนทั้งสองข้าง หรือกรามได้ มีเหงื่อแตกใจสั่นร่วมด้วย ภาวะดังกล่าวมีอุบัติการณ์เสียชีวิตสูง ควรรีบมาพบอายุรแพทย์โรคหัวใจโดยด่วน เพื่อทำการฉีดสีสวนหัวใจ (coronary angiogram) และเปิดเส้นเลือดได้อย่างทันท่วงที 
  • 2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบเรื้อรัง เกิดจากเส้นเลือดหัวใจตีบตันจากการมีไขมัน และแคลเซียมเกาะตามผนังหลอดเลือดมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจบีบตัวน้อย ผู้ป่วยมักมีอาการแสดง เช่น เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอกเป็นๆ หายๆ สัมพันธ์กับการออกแรง ขาบวม นอนราบไม่ได้ หายใจติดขัดไม่สะดวก แนะนำให้พบอายุรแพทย์โรคหัวใจเพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด และได้รับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

 

โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia)

          โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แบ่งได้หลายประเภท ขึ้นกับตำแหน่งที่สร้างกระแสไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติไป โดยทั่วไปจำแนกได้เป็น หัวใจห้องบนผิดปกติ และห้องล่างผิดปกติ บางชนิดมีความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดในสมองอุดตัน(embolic stroke) จึงมีความจำเป็นต้องได้รับยาละลายลิ่มเลือดเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยกลุ่มโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะดังกล่าว มักมีอาการแสดงคล้ายๆกัน เช่น ใจสั่น หน้ามืด หมดสติ หรือมีความรู้สึกๆหวิวๆ เหมือนจะหมดสติ ในบางกรณี อาการแสดงดังกล่าวมันเกิดขึ้น และหายไปในระยะเวลาสั้นๆ และไม่สามารถตรวจพบได้ทัน ณ ห้องฉุกเฉิน ของโรงพยาบาล จึงแนะนำให้มาตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียด เพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม

 

โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart disease)

          เกิดจากโครงสร้างหัวใจที่ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด บางประเภทมีอาการแสดงตั้งแต่เด็ก แต่บางประเภทอาการมักแสดงอาการในขณะที่ผู้ป่วยมีอายุมากแล้ว โดยอาการส่วนใหญ่ ผู้ป่วยมักมีอาการเหนื่อยง่าย มือเท้าหรือปากมีอาการเขียวคล้ำ หน้ามืด หมดสติ หรือ ตรวจพบเสียงหัวใจที่ผิดปกติจากการตรวจสุขภาพประจำปีโดยที่ยังไม่แสดงอาการได้  โรคดังกล่าว บางชนิดสามารถรักษาได้หายได้ ด้วยการผ่าตัด หรือใส่อุปกรณ์สวนทางหลอดเลือดโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดใหญ่ และแนะนำให้ได้รับการรักษาโดยเร็วหลังจากตรวจพบ หากปล่อยทิ้งไว้นานจนมีอาการหนักเกินไป บางชนิดไม่สามารถทำการผ่าตัดได้แล้วเนื่องจากมีผลเสียต่อร่างกายมากกว่า

 

ภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure)

          คือ ภาวะที่หัวใจมีการบีบตัวที่ลดน้อยลง จนหัวใจไม่สามารถส่งเลือดดีไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้อย่างเพียงพอ สาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจาก เส้นเลือดหัวใจตีบตัน ความผิดปกติของลิ้นหัวใจ โรคทางพันธุกรรม สารเสพติด พิษสุราเรื้อรัง หรือเกิดภายหลังการติดเชื้อบางชนิด ผู้ป่วยมักแสดงอาการ ตัวบวม นอนราบแล้วเหนื่อยมากขึ้น เหนื่อยง่าย การรักษาประกอบด้วยการบูรณาการหลายด้าน เช่น การฉีดสีสวนหัวใจ การผ่าตัด การควบคุมการรับประทานน้ำในแต่ละวัน ยาหลายชนิด ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีและยาใหม่ๆ ที่ทำให้ผู้ป่วยโรคนี้มีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถใช้ชีวิตได้เทียบเท่าคนปกติได้

 

 โรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Cardiogenetic)

          โรคหัวใจบางชนิด เกิดจากความผิดปกติในระดับยีน (gene mutation) สามารถส่งผ่านทางพันธุกรรมได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ แต่มักแสดงอาการตอนโต หรือช่วงวันกลางคน อาทิ โรคผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวมากกว่าปกติ โรคหัวใจโตบางชนิด โรคไหลตาย การตรวจทางห้องปฏิบัติการทางหัวใจหลายอย่าง รวมถึงการตรวจหายีนที่ผิดปกติ(gene mutation) สามารถช่วยชีวิตในผู้ที่ยังไม่แสดงอาการ รวมถึงวางแผนการป้องกัน หรือช่วยในการวางแผนการมีบุตรในอนาคตได้

 

โครงสร้างของหัวใจผิดปกติ (structural heart disease)

          ความผิดปกติทางโครงสร้างของหัวใจที่ผิดปกติมีหลายชนิด อาทิเช่น ลิ้นหัวใจที่ผิดปกติ ตรวจพบก้อนเนื้อในภายในห้องหัวใจ เยื้อห้วหัวใจผิดปกติ มีน้ำในเยื้อหัวหัวใจมากกว่าปกติ กลุ่มโรคดังกล่าวขัดขวางการไหลเวียนของเลือดแดง ทำให้ร่างกายได้รับเลือดและออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยง่าย หน้ามืดบ่อย หรือบางครั้ง หมดสติได้ โรคในกลุ่มดังกล่าวสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาบางชนิด หรือการผ่าตัด แนะนำให้ปรึกษาอายุรแพทย์โรคหัวใจเพื่อให้คำแนะนำที่เหมาะสมและตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือทางหัวใจอย่างละเอียด

 

การคัดกรองและการส่งเสริมสุขภาวะของหัวใจ (Cardiac Preventive)

          ณ ปัจจุบัน การรับประทานอาหารบางประเภท ความเครียด การนอนหลับไม่เพียงพอ การสูบบุหรี่ และปัจจัยเสี่ยงหลายๆอย่างในชีวิตประจำวัน เป็นปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อยมากขึ้นในยุคโลกาภิวัตน์นี้ ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวส่งผลทำให้เกิดโรคและความผิดปกติทางหัวใจได้ในอนาคตได้ ในปัจจุบันกรอบแนวความคิดทางการแพทย์โรคหัวใจยุดใหม่มุ่งเน้นถึงการป้องกันการเกิดโรคมากเทียบเท่ากับการรักษาโรคหัวใจ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อใช้ในการคัดกรองความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจที่แม่นยำและพยากรณ์การเกิดโรคในอนาคตได้มากขึ้น อาทิ การตรวจการทำงานของหัวใจด้วยการอัลตราซาวน์หัวใจ (echocardiogram) การทดสอบสมรรถภาพการทำงานของหัวใจด้วยการวิ่งสายพาน(EST) การตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอดทั้งวัน (Holter monitoring) การตรวจวัดระดับแคลเซียมหรือหินปูนในหลอดเลือดหัวใจ(CT calcium score) การตรวจวัดระดับการตีบของเส้นเลือดหัวใจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ (CT coronary angiography) การตรวจคัดกรองทางหัวใจด้วยเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีความเสี่ยง การได้รับยาที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจในอนาคตได้     




แพทย์เฉพาะทาง

นพ.อาทิตย์ ฆารสว่าง
Atid Kansawang, M.D.


อายุรแพทย์ทั่วไปและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางโรคหัวใจและหลอดเลือด