โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)

โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)

19/07/2567 11:01:43 | Views: 1,780

รูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)

โรครูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบประเภทหนึ่ง เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของข้อต่อ สามารถเกิดขึ้นได้ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยอาการจะค่อย ๆ เป็นมากขึ้นและดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ มักมีอาการเริ่มแรกในข้อขนาดเล็กในมือหรือเท้าในหลาย ๆ ตำแหน่ง เช่น มือ ข้อมือ พร้อมกัน หลังจากนั้นอาจเปลี่ยนที่ไปที่ข้อเข่าหรือไหล่ เมื่อเนื้อเยื่อภายในข้อต่อที่ได้รับความเสียหายจากกระบวการอักเสบนานเข้าจะนำไปสู่อาการปวดเรื้อรัง และข้อต่อผิดรูปได้  ผู้ป่วยแต่ละคนจะเริ่มมีอาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ในช่วงอายุที่ต่างกัน และมีอาการ ความรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนที่ต่างกันอีกด้วย

 

อาการของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มีดังนี้ 

  • มีอาการปวดดำเนินอย่างช้า ๆ อาจนานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน 
  • เหนื่อยอ่อนและเมื่อยล้า 
  • มีน้ำหนักตัวลดลง
  • มีไข้อ่อน ๆ

 

อาการอื่น ๆ ของโรคที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • มีอาการปวด บวม แดง อุ่น ข้อฝืด โดยจะเกิดขึ้นพร้อมกันในร่างกาย เช่น มือ ข้อมือ ข้อศอก เท้า ข้อเท้า เข่า และคอ
  • อาการข้อฝืดแข็ง อาจเกิดขึ้นหลังจากที่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว เช่น ตอนตื่นนอนในตอนเช้า หรือนั่งเป็นเวลานาน ๆ
  • ปุ่มรูมาตอยด์ (Rheumatoid Nodules) ปุ่มเนื้อนิ่ม ๆ ที่มักเกิดบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อย ๆ เช่น ข้อศอก ข้อนิ้วมือ กระดูกสันหลัง

ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ประมาณ 40% จะพบว่ามีอาการที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อต่อและอาจส่งผลต่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ เช่น ผิวหนัง ดวงตา ปอด หัวใจ ไต ต่อมน้ำลาย เส้นประสาท ไขกระดูก หลอดเลือด อาการและสัญญาณของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์อาจแตกต่างกันไปตามความรุนแรง และอาการอาจกำเริบและสงบลงเป็นพัก ๆ ได้

 

สาเหตุ

สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่นอน แต่จากการศึกษาพบว่า โรคนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อบางอย่างและมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม

 

การวินิจฉัยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคที่วินิจฉัยได้ยากในเบื้องต้น และการตรวจจากห้องปฏิบัติการใด ๆ เพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้ ซึ่งในเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติ ระยะเวลาของอาการ และตรวจร่างกายโดยตรวจดูอาการบวม รอยแดง และความร้อน หาลักษณะของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

  • ตรวจเลือด ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์ อาจพบค่าการอักเสบ (Erythrocyte Sedimentation Rate: ESR) หรือหาค่าโปรตีนในร่างกายที่เป็นตัวบ่งบอกว่ามีการอักเสบขึ้นในร่างกาย (C-reactive protein: CRP) และอาจตรวจพบ rheumatoid factor, anti-CCP จากเลือด
  • เอกซเรย์ แนะนำให้เอกซเรย์เพื่อติดตามการดำเนินของโรค นอกจากนั้น การตรวจจากเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า MRI และการทำอัลตร้าซาวด์ ก็จะช่วยให้แพทย์ทราบถึงความรุนแรงของโรคได้ โดยจะทำเฉพาะในรายที่มีความจำเป็นเท่านั้น

 

การรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ยังไม่มีการรักษาที่หายขาดได้ แต่ปัจจุบันมีความเป็นไปได้ที่จะบรรเทาโรคให้ดีขึ้น หากเริ่มต้นการรักษาอย่างทันท่วงทีและรักษาด้วยยาปรับเปลี่ยนการดำเนินโรค (Disease Modifying Antirheumatic Drugs หรือ DMARDs) รวมไปถึงการรักษาด้วยยาอื่น ๆ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและระยะเวลาตั้งแต่เกิดโรค เช่น ยาลดการอักเสบ (NSAIDs) ยากลุ่มสเตียรอยด์ และยากลุ่มสารชีวภาพ 

โดยปกติแล้ว การรักษาโรครูมาตอยด์จะทำการรักษาตรวจติดตามและรักษาอย่างต่อเนื่อง แพทย์จะติดตามและควบคุมอาการอย่างใกล้ชิด แพทย์ที่รักษาโรคไขข้อจะประเมินผลอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและการรักษา โดยจะทำในทุก ๆ 2-3 เดือนในช่วงแรก หรือทุก ๆ 6-12 เดือนในช่วงที่อาการสงบลงแล้ว

 

การบำบัดโรค

แพทย์อาจส่งผู้ป่วยไปยังผู้เชี่ยวชาญในการบำบัดโรคหรือนักกายภาพที่ช่วยสอนให้ผู้ป่วยบริหารร่างกายเพื่อให้ข้อต่อมีความยืดหยุ่น ผู้เชี่ยวชาญอาจแนะนำทางเลือกใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือที่ทำให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้นและหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดที่ข้อได้

 

การผ่าตัด

หากการรักษาด้วยยาไม่ได้ผลในการป้องกันและชะลอการถูกทำลายของข้อ แพทย์อาจพิจารณาให้ทำการผ่าตัดเพื่อรักษาข้อที่มีการเสื่อมหรือถูกทำลาย ซึ่งการผ่าตัดอาจช่วยทำให้ข้อต่อสามารถใช้การได้ดีขึ้น นอกจากนั้นยังช่วยลดความเจ็บปวดและช่วยแก้ไขส่วนที่ผิดรูปให้กลับมาปกติ ซึ่งอาจใช้การผ่าตัดเพียงอย่างเดียวหรือรวมไปถึงวิธีอื่น ๆ เช่น 

  • การผ่าตัดเยื่อหุ้มข้อ (Synovectomy) 
  • การเย็บซ่อมเส้นเอ้นรอบข้อต่อ (Tendon Repair) 
  • การผ่าตัดรวมข้อ (Joint Fusion) 
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม (Total Joint Replacement)

วิธีการรักษาทางเลือกเสริมหรือทางเลือกเฉพาะทางอื่น ๆ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ก่อน เนื่องจากยังไม่มีผลการรับรองว่าทางเลือกเสริมเหล่านี้สามารถช่วยรักษาได้อย่างเห็นผลเพียงใด

ภาวะแทรกซ้อนของโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

การป่วยเป็นโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการพัฒนาไปเป็นโรคต่าง ๆ ได้ ดังต่อไปนี้

  • โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ภาวะที่กระดูกมีความเสื่อมและเปราะบางลงทำให้แตกร้าวได้ง่าย ซึ่งในกรณีนี้อาจเกิดจากยาบางชนิดที่ใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
  • ปุ่มรูมาตอยด์ (Rheumatoid Nodules) ตุ่มบวมมักเกิดขึ้นบนร่างกายในบริเวณที่มีการเสียดสี เช่น ข้อศอก อย่างไรก็ตาม ตุ่มบวมนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ในร่างกายรวมไปถึงปอด
  • ตาแห้งและปากแห้ง ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์มักจะพบว่าเกิดโรคปากแห้งตาแห้ง
  • การติดเชื้อ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และยาที่ใช้รักษา สามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงและนำไปสู่การติดเชื้อได้ในที่สุด
  • โรคการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal Tunnel Syndrome) การอักเสบสามารถทำให้เกิดการกดทับเส้นประสาทที่ข้อมือได้
  • ภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจ ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์มีความเสี่ยงของภาวะหลอดเลือดอุดตันหรือหลอดเลือดแข็ง รวมถึงเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ซึ่งเกิดจากภาวะอักเสบในร่างกาย
  • โรคปอด ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดและเกิดพังผืดที่เนื้อเยื่อปอด ซึ่งสามารถทำให้เกิดการหายใจลำบากหรือหายใจสั้น
  • มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) ผู้ป่วยโรครูมาตอยด์มีความเสี่ยงสูงขึ้นที่จะเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

 

การป้องกันโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

โรครูมาตอยด์เป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่เมื่อเป็นแล้วสามารถบำบัดรักษาให้ใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติมากที่สุด ซึ่งเมื่อเป็นโรคนี้แล้ว ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการได้โดยการดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน ด้วยการมีความรับผิดชอบต่อสุขภาพร่างกายของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น มีความกระฉับกระเฉง ทำให้กล้ามเนื้อมีความแข็งแรง 

รวมไปถึงการเลี่ยงพฤติกรรมที่ต้องใช้ข้อมาก ๆ นอกจากนั้น ต้องรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งให้ครบตามเวลาและสม่ำเสมอ เพราะแม้ว่าจะมีอาการที่ดีขึ้นแล้วก็ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันปัญหาและความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น ข้อเสื่อมหรือข้อถูกทำลาย

 


บทความโดย

นพ.ปิยะ อัศวบุญญาเดช
นพ.ปิยะ อัศวบุญญาเดช

ศัลยแพทย์กระดูก-ข้อ /ออร์โธปิดิกส์และผู้เชี่ยวชาญทางเนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน


บทความน่ารู้

การนับลูกดิ้นในครรภ์ มีความสำคัญหรือไม่

การนับลูกดิ้นในครรภ์ มีความสำคัญหรือไม่

เมื่อทารกดิ้นมากหรือมีลักษณะการดิ้นเปลี่ยนแปลงอาจเป็นสัญญาณบอกว่าทารกมีสุขภาพดีอยู่. ในทางกลับกัน การลดจำนวนการดิ้นหรือการรู้สึกลดลงอาจเป็นสัญญาณของปัญหาในการตั้งครรภ์หรือปัญหาสุขภาพของทารก

MIS-C ภาวะอักเสบทั่วร่างกายในเด็ก..อันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง

MIS-C ภาวะอักเสบทั่วร่างกายในเด็ก..อันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง

ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการของโรคโควิด-19 หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย อายุเฉลี่ยของเด็กที่พบอาการของโรคโควิด-19 หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย