โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากขึ้นทุกปี โดยจากสถิติของประเทศไทยล่าสุดพบว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตเป็นอันดับที่สามของผู้ป่วยที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง รองจากมะเร็งปอด โรคมะเร็งชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับลำไส้ใหญ่ทุกๆส่วน ไม่ว่าจะเป็นลำไส้ที่อยู่ในช่องท้อง หรือลำไส้ใหญ่ส่วนที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน ที่เรียกว่าไส้ตรง อันที่จริงแล้ว มะเร็งลำไส้ใหญ่ของทั้งสองส่วน จะมีลักษณะโรคและวิธีรักษาที่แตกต่างกันบ้าง แต่สาเหตุการตรวจวินิจฉัยและระยะโรคจะคล้ายคลึงกัน ตำแหน่งที่พบว่าเป็นมะเร็งประมาณครึ่งหนึ่งอยู่ที่บริเวณไส้ตรง อีกหนึ่งในสามอยู่ที่ลำไส้ขดขวาละขดซ้าย ส่วนที่ทวารหนัก พบร้อยละ 1-2 ของทั้งหมด
สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ชาย-หญิง อายุมากกว่า 50 ปี
- ชอบรับประทานอาหารไขมันสูง อาหารเนื้อแดง อาหารปิ้งย่าง
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ดื่มแอลกอฮอล์
- สูบบุหรี่
- ขาดการออกกำลังกาย
อาการของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการ
- อุจจาระเหลวกับอุจจาระแข็งสลับกันบางครั้งเหมือนถ่ายไม่หมด
- อุจจาระเป็นมูกเลือด เป็นเลือดสด หรือสีดำคล้ายสีถ่าน
- ปวดเบ่งเวลาอุจจาระ
- คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย หรือ ซีดโดยไม่ทราบสาเหตุ
- น้ำหนักลด โดยไม่ทราบสาเหตุ
การวินิจฉัย
ปัจจุบันมีการตรวจคัดกรอบเพื่อค้นหาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น การตรวจเลือดในอุจจาระหรืออาจตรวจลำไส้ละเอียดมากขึ้นด้วยการสวนสารทึบแสงตลอดจนการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่างเพื่อดูลักษณะของลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) หรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Sigmoidoscopy) ซึ่งเป็นหัตถการที่ค่อนข้างปลอดภัยใช้เวลาทำไม่นานถ้าผู้ป่วยอายุน้อยไม่มีโรคประจำตัวก็มักจะทำในลักษณะของผู้ป่วยนอก แต่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาแทรกซ้อน ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ผู้สูงอายุ ระบบทางเดินหายใจ โรคตับและโรคไต จำเป็นต้องรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล เพื่อให้การดูแลอย่างเหมาะสมจะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นในระหว่างและหลังการตรวจการได้
การรักษา
การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่จะได้ผลดีมากน้อยเพียงใดขึ้นกับระยะของโรคขณะเริ่มต้นรักษา ได้แก่
การผ่าตัด ถือเป็นการรักษาหลักของมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยตัดลำไส้ที่เป็นโรคและต่อมน้ำเหลืองออกไป ถ้าเป็นมะเร็งของลำไส้ใหญ่ส่วนปลายอยู่ติดทวารหนัก การผ่าตัดอาจจำเป็นต้องทำทวารเทียมโดยเอาปลายลำไส้ส่วนที่เหลืออยู่เปิดออกทางหน้าท้องเป็นทางอุจจาระ
ปัจจุบันมีการใช้เครื่องมือชนิดลวดเย็บมาช่วยต่อลำไส้ ทำให้สามารถผ่าตัดมะเร็งที่อยู่ต่ำๆ โดยอยู่เหนือรูทวารหนักเพียง 4-5 เซนติเมตร ได้โดยไม่ต้องทำทวารเทียม
รังสีวิทยา เป็นการรักษาร่วมกับการผ่าตัด อาจฉายรังสีก่อนหรือหลังผ่าตัด โดยแพทย์จะประเมินจากการลุมลามของก้อนมะเร็งและโอกาสการแพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง โดยทั่วไปการฉายรังสีใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 สัปดาห์ โดยฉายวันละ 1 ครั้ง ฉายติดต่อกัน 5 วันใน 1 สัปดาห์
ยาเคมีบำบัด การให้ยาเคมีบำบัดอาจให้ก่อนการผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด ร่วมกับรังสีรักษาหรือไม่ก็ได้ การให้ยาเคมีบำบัดไม่จำเป็นต้องให้ในผู้ป่วยทุกราย โดยแพทย์พิจารณาเป็นรายๆไป
นอกจากนี้ การติดตามผลการรักษาก็ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก หลังการรักษาควรไปตรวจตามแพทย์นัดเพื่อตรวจดูว่ามะเร็งกลับเป็นซ้ำหรือไม่ เพื่อจะให้รักษาได้อย่างรวดเร็ว โดยแพทย์จะตรวจร่างกายตรวจหาเลือดในอุจจาระ X-ray เจาะเลือดตรวจผู้ป่วยมาตรวจตามนัดสม่ำเสมอและควรนำญาติหรือผู้ให้การดูแลมาด้วย เพื่อที่จะได้ร่วมปรึกษาวางแผนการดูแลผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม
อายุรแพทย์ทั่วไปและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินอาหารและตับ
โรคกระดูกพรุน สำหรับหลายท่าน อาจคิดว่าเป็นโรคที่เกิดกับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ที่จริงแล้ว โรคกระดูกพรุนเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งขึ้นกับสาเหตุต่างๆที่ทำให้เกิดการสูญเสียมวลกระดูก ทำให้กระดูกเสียคุณสมบัติในการรับน้ำหนักและความแข็งแรง ทำให้กระดูกเปราะและแตกหักง่าย
Copyright @ 2021. All Rights Reserved By Intrarat Hospital