เส้นประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลันเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
“โรคเส้นประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลัน” หรือ “Sudden Sensorineural Hearing Loss” คือ ภาวะที่หูสูญเสียการได้ยิน “ลดลงมากกว่า 30 เดซิเบล” ในช่วงเวลา 72 ชั่วโมง โดยสามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกันทั้ง 2 ข้าง แต่มักพบว่าจะเป็นข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า ซึ่งกว่า 90% ของผู้ป่วย มักไม่ทราบสาเหตุ แต่อีก 10% เกิดได้จากสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้
- เกิดจากการติดเชื้อไวรัส
- เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไทรอยด์ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
- เกิดจากการได้รับยาฆ่าเชื้อในกลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์
- เกิดจากการไหลเวียนของเลือดในหูน้อยลง อันเนื่องมาจากความดันต่ำ หรือเสียเลือดมาก
- เกิดจากภาวะพักผ่อนน้อยเกินไป
- เกิดจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากันขั้นรุนแรง ซึ่งจะทำให้มีอาการเวียนหัวร่วมด้วย
- เกิดจากเนื้องอกในสมอง หรือเนื้องอกที่เส้นประสาทหู
- การได้ยินเสียงดังมากๆ รวมถึงการใส่หูฟังเพลงดังๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือหลับพร้อมกับที่ยังใส่หูฟังเพลงอยู่ ก็ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลันได้
อาการแบบไหน น่าสงสัยว่าประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลัน ?
อาการของโรคประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลันที่สังเกตได้ง่ายที่สุด คือ คนไข้จะสูญเสียการได้ยินแบบเฉียบพลัน โดยดับวูบไปอย่างรวดเร็วภายใน 3 วัน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา การได้ยินก็จะบกพร่องอยู่อย่างนั้น หรือเป็นหนักขึ้นจนถึงขั้น ‘หูหนวก ไม่ได้ยินอะไรเลย’ นอกจากนี้ยังอาจมีอาการร่วมอื่นๆ ได้ เช่น การได้ยินเสียงดังในหู ซึ่งเป็นเสียงอื้อๆ ก้องๆ ที่เกิดขึ้นเองจากหู โดยที่ไม่ได้ยินเสียงภายนอก หรือบางรายจะรู้สึกเหมือนมีอะไรแน่นๆ ติดขัดในหู ความสามารถในการได้ยินลดลง ต้องคอยฟังซ้ำ ต้องเปิดทีวีเสียงดังขึ้น เป็นต้น แต่อาการโรคประสาทหูชั้นในดับเฉียบพลันนี้ “จะไม่มีอาการปวดร่วมด้วย” และโรคนี้จะต่างจากภาวะหูอื้อธรรมดาโดยทั่วไปคือ จะไม่สามารถหายได้เองภายใน 1 วัน แต่จะคงอยู่ไปเรื่อยๆ และการได้ยินจะลดคุณภาพลงไปเรื่อยๆ ได้
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโสต ศอ นาสิก และ ศัลยกรรมตกแต่ง เสริมสร้างใบหน้า
Copyright @ 2021. All Rights Reserved By Intrarat Hospital