MIS-C ภาวะอักเสบทั่วร่างกายในเด็ก…อันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง
Multisystem Inflammatory Syndrome in Children; MIS-C คือภาวะการอักเสบหลายระบบที่เป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหลังจากติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นภาวะที่พบได้น้อยแต่มีความรุนแรงสูง อาจเริ่มมีอาการได้ตั้งแต่ช่วงที่กำลังจะหายจากโรค หรือตามหลังการติดเชื้อประมาณ 2-6 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยอาจไม่มีอาการของโรคโควิด-19 หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย อายุเฉลี่ยของเด็กที่พบอาการดังกล่าว คือ 8 ปี พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง 4 เท่า เนื่องจากเด็กที่มีกลุ่มอาการ MIS-C อาจมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว อาจถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลเมื่อสงสัยภาวะนี้
อาการที่ควรพามาโรงพยาบาล
1.มีไข้สูง โดยเฉพาะไข้สูงนานเกินสองวัน
2.คลื่นไส้ ปวดท้อง อาเจียนมาก
3.หายใจหอบเหนื่อย หายใจเร็ว ปากเขียว
4.ซึม ไม่เล่น ไม่ร่าเริง ปลุกไม่ตื่น หรือชักเกร็ง
อาการแสดงของ MIS-C ได้แก่ ไข้ มีหลักฐานภาวะอักเสบ (ดูจากผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ และอาการทรุดทางระบบร่างกายหลายระบบ หรือ มีภาวะช็อก ผู้ป่วย MIS-C แสดงอาการได้หลากหลาย ได้แก่
ㆍ อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้องถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน ลำไส้อักเสบ ตับอักเสบ และอาการคล้ายไส้ติ่งอักเสบ
ㆍกลุ่มอาการคล้ายโรคคาวาซากิ คือมีไข้ ผื่น ตาแดง มือ เท้าบวมแดง ปากแดง แห้งแตก ต่อมน้ำเหลืองโตและมีอาการของระบบหัวใจและหลอดเลือด หรือ อาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง หรือ ท้องเสีย
ㆍ อาการคล้าย toxic shock syndrome การหมุนเวียนโลหิตล้มเหลว การทำงานของหัวใจบกพร่อง มีภาวะการอักเสบรุนแรง
ㆍ ลิ่มเลือดอุดตัน
ㆍ ไตวายเฉียบพลัน
ㆍ หายใจหอบ จากหัวใจล้มเหลว หรือลิ่มเลือดอุดตันในปอด
เมื่อเปรียบเทียบกับโรคคาวาซากิ ผู้ป่วย MIS-C มักจะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่าและมีโอกาสเกิดภาวะช็อก และมีอาการที่รุนแรงกว่า การวินิจฉัยภาวะนี้ทำได้ยากเนื่องจากอาการไม่จำเพาะ สาเหตุอาจเกิดจากภาวะอื่นเช่น คาวาซากิ หรือการช็อกจากการติดเชื้อรุนแรงได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายจำเป็นต้องได้รับการรักษาไว้ในโรงพยาบาลเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาเบื้องต้นทันที
การรักษา
ภาวะนี้การรักษาหลักจะเป็นการให้ยาเพื่อควบคุมอาการอักเสบเช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์และ IVIG ร่วมกับการรักษาประคับประคองตามอาการของผู้ป่วย เช่น การให้สารน้ำ การให้ยากระตุ้นความดัน การใช้เครื่องช่วยหายใจในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ การให้ยาฆ่าเชื้อ เพื่อครอบคลุมการติดเชื้อแทรกซ้อน เป็นต้น
กุมารแพทย์ทั่วไป
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสุขและการดำเนินชีวิตของเราทุกคนนั้น จำเป็นต้องอาศัย “การได้ยินเสียง”
วัคซีนเน้นช่วยป้องกันไม่ให้อาการรุนแรง เช่น ปอดบวม สมองอักเสบ
Copyright @ 2021. All Rights Reserved By Intrarat Hospital