นิ่วถุงน้ำดี ใครบ้างที่เสี่ยง!!

นิ่วถุงน้ำดี ใครบ้างที่เสี่ยง!!

14/12/2565 10:48:39 | Views: 6,248

  • ถุงน้ำดีคืออะไร ?

ถุงน้ำดีเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่กักเก็บน้ำดีที่สร้างมาจากตับ เพื่อไว้สำหรับการย่อยอาหารประเภทไขมัน โดยวางตัวอยู่ใต้ตับบริเวณชายโครงด้านขวา มีขนาดเล็กประมาณ 6-7 ซม. รูปทรงคล้ายลูกแพร์ มีท่อต่อไปยังตับและลำไส้เล็กส่วนต้น

  • นิ่วในถุงน้ำดีคืออะไร ?

นิ่ว คือหินปูนขนาดเล็ก ลักษณะเหมือนก้อนกรวด เกิดจากการตกตะกอนของสารเคมีในน้ำดีที่ผิดปกติ สามารถเกิดขึ้นได้เป็นก้อนเดียว หรือหลายๆก้อนได้ โดยแบ่งหลักๆเป็น 2 ชนิด คือนิ่วจากคอเลสเตอรอล และนิ่วจากบิลิรูบิน (สารสีเหลืองในน้ำดี)

  • ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี
    • เพศหญิง
    • อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
    • มีประวัติครอบครัวเป็นนิ่วในถุงน้ำดี
    • ความอ้วน
    • ทานยาคุมกำเนิดเป็นประจำ
    • เป็นโรคเบาหวาน
    • เป็นโรคเม็ดเลือดแดงผิดปกติบางชนิด

  • อาการของนิ่วในถุงน้ำดี

ส่วนใหญ่แล้ว นิ่วในถุงน้ำดีมักพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพ (Ultrasound) และไม่มีอาการผิดปกติทางร่างกายใดๆ แต่ในผู้ป่วยบางส่วนสามารถมีอาการผิดปกติที่แสดงออกได้เช่น ปวดท้อง อืด เฟ้อ เรอ แน่น สัมพันธ์กับมื้ออาหารโดยเฉพาะอาหารมัน และมักจะปวดบริเวณใต้ชายโครงขวาหรือบริเวณลิ้นปี่เป็นหลัก อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หรือปวดร้าวไปยังสะบักหลังหรือไหล่ขวาได้ ลักษณะการปวดจะปวดนานเป็นชั่วโมง และดีขึ้นได้เองหลังเวลาผ่านไปสักพัก โดยเกิดขึ้นซ้ำเป็นๆหายๆ

  • ภาวะแทรกซ้อนจากนิ่วในถุงน้ำดี

ในรายที่เป็นมาก นิ่วในถุงน้ำดีอาจไปอุดกั้นทางเดินน้ำดีได้ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายตามมา เช่นถุงน้ำดีอักเสบ, ภาวะดีซ่าน (ตัวตาเหลือง), ท่อน้ำดีอักเสบติดเชื้อ, ติดเชื้อในกระแสเลือด หรือตับอ่อนอักเสบได้ ซึ่งภาวะทั้งหมดที่กล่าวมา หากเกิดขึ้น ถือเป็นภาวะเร่งด่วนอันตราย จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด หรือส่องกล้องแก้ไขทันที เพื่อผลลัพธ์การรักษาที่ดีที่สุด

  • การรักษานิ่วในถุงน้ำดี

โดยทั่วไปแล้ว หากตรวจพบนิ่วในถุงน้ำดี และยังไม่มีอาการผิดปกติทางร่างกายใดๆ ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อนำถุงน้ำดีออกแต่อย่างใด สามารถเลือกใช้วิธีการติดตามอาการ ตรวจสุขภาพเป็นประจำสม่ำเสมอทุกปีได้ แต่หากมีอาการที่เกิดจากถุงน้ำดีที่กล่าวไปในข้างต้นแล้ว การรักษาที่แนะนำคือการผ่าตัดส่องกล้องถุงน้ำดี เพื่อประโยชน์ในการป้องกันภาวะแทรกซ้อนอันตรายจากนิ่วที่จะเกิดขึ้นต่อไป

  • การผ่าตัดถุงน้ำดีส่องกล้อง

ด้วยเทคโนโลยีการรักษาในปัจจุบัน การผ่าตัดถุงน้ำดีจะใช้วิธีการเจาะรูหน้าท้องเพื่อส่องกล้องเป็นหลัก ทำให้เกิดแผลผ่าตัดที่มีขนาดเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวไว และได้ผลลัพธ์ไม่ต่างจากวิธีการผ่าตัดแบบปกติ แต่ในผู้ป่วยจำนวนน้อยบางรายที่มีข้อจำกัด อาจจำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัดเปิดหน้าท้องเพื่อตัดถุงน้ำดีแบบปกติ ขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย

 









บทความโดย

นพ.ศตวรรษ ใจเอื้อ (ศัลยแพทย์)