เตรียมความพร้อม...ก้าวเข้าสู่วัยทอง
18/10/2567 15:53:59 | Views: 189
วัยทอง…จะมาถึงเมื่ออายุเท่าไหร่?
ถ้าพูดถึงวัยทองหรือวัยที่กำลังจะหมดประจำเดือน (Menopausal transition or perimenopause) แต่ละคนนั้นอาจเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน โดยสามารถเริ่มต้นที่อายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป แต่ความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ตั้งแต่ช่วงกลางอายุ 30 ปี และจะแปรปรวนแบบสังเกตได้ชัดเจน เมื่อคุณอายุประมาณ 40 ปี
ภาวะวัยทอง คืออะไร
ภาวะวัยทอง คือ ภาวะที่ร่างกายผลิตฮอร์โมนเพศได้น้อยลง ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมสภาพลง และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่น โรคกระดูกพรุน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายที่มีอายุอยู่ในช่วงตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แต่ผู้หญิงจะแสดงอาการชัดเจนกว่า โดยเฉลี่ยภาวะวัยทองมักเกิดก่อนวัยหมดประจำเดือนประมาณ 4 ปี
สตรีวัยหมดประจำเดือน (Menopause) คือ ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 40 ปีที่สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวรอย่างน้อย 12 เดือนขึ้นไป เนื่องมาจากการที่รังไข่หยุดการสร้างฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) และไม่มีโรคต่อมไร้ท่ออย่างอื่นผิดปกติ เช่น ไทรอยด์ หรือฮอร์โมนโปรแลคติน ผิดปกติ เป็นต้น ส่วนใหญ่มักพบที่อายุ 51 ปี บางคนอาจเกิดอาการวัยทองต่างๆ เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออก อารมณ์แปรปรวน รบกวนการนอนหลับ พลังงานลดลงทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย รวมถึงร่างกายเริ่มมีการเสื่อมถอยลง น้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นจากการที่ร่างกายมีการเผาผลาญน้อยลง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคสมองเสื่อมอีกด้วย
อาการวัยทอง แสดงในระยะสั้น
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ หากมีอาการเลือดออกจากช่องคลอดหลังวัยหมดประจำเดือน ควรรีบไปพบแพทย์
- ช่องคลอดแห้ง
- ร้อนวูบวาบ
- เหงื่อออกตอนกลางคืน
- นอนไม่หลับ หรือมีปัญหาในการนอน
- อารมณ์แปรปรวน
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเผาผลาญน้อยลง
- ผิวแห้ง ผมร่วง
อาการวัยทอง และความเสี่ยงในระยะยาว
- โรคกระดูกพรุน การที่ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นทำให้กระดูกเปราะบาง เนื่องจากมีการสูญเสียความหนาแน่นของกระดูก ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่กระดูกจะหักได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ
- โรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนนั้นช่วยลดไขมันไม่ดีในเลือดได้ (LDL) ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดูแลตนเองโดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม ลดอาหารมัน งดของทอด เบเกอรี่ และรักษาน้ำหนักตัวให้เป็นปกติ รวมถึงขอคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับวิธีป้องกันโรคหัวใจ
- การเปลี่ยนแปลงของระบบประสาทส่วนกลาง การตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นลดลง การเคลื่อนไหวช้าลง ความทรงจำอาจเสื่อมถอยลง
- ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เนื่องจากเนื้อเยื่อของช่องคลอดและท่อปัสสาวะสูญเสียความยืดหยุ่น บางครั้งมีอาการปัสสาวะบ่อย รวมถึงการเพิ่มโอกาสติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะมากขึ้น
- ช่องคลอดแห้ง เกิดการอักเสบของช่องคลอด มีอาการแสบและเจ็บในช่องคลอด
- น้ำหนักเพิ่มขึ้น เนื่องจากระบบเผาผลาญทำงานน้อยลง
เคล็ดลับดูแลตัวเองของผู้ที่เข้าสู่วัยทอง มีดังนี้
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ เนื้อปลา ผัก ผลไม้ และธัญพืช
- ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร
- เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง
- จำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ฝึกการผ่อนคลายอารมณ์ ลดความเครียด และฝึกหายใจเข้าออกลึกๆ บ่อยๆ
- ในกรณีไม่สามารถผ่อนคลายความเครียดด้วยตนเองได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เรื่องความวิตกกังวล อารมณ์แปรปรวน และ ปัญหาเพศสัมพันธ์ (ถ้ามี)
- สร้างนิสัยการนอนที่ดี และ พักผ่อนให้เพียงพอ
- บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และกระชับช่องคลอด (Kegel Exercises)
- เข้าชมรม อาสาสมัคร หรือหางานอดิเรกใหม่ๆ ทำ
- ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และคัดกรองเบื้องต้น ในระหว่างและหลังวัยหมดประจำเดือน เช่น ตรวจเลือด ตรวจความหนาแน่นของกระดูก ตรวจมะเร็งปากมดลูก ตรวจมะเร็งเต้านม เป็นต้น