ไส้เลื่อนขาหนีบ

ไส้เลื่อนขาหนีบ

10/10/2566 16:14:42 | Views: 6,630

ไส้เลื่อนขาหนีบ

        โรคไส้เลื่อนขาหนีบ เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงอาจจะเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ ซึ่งเกิดจากผนังหน้าท้องบริเวณขาหนีบมีความแข็งแรงลดลง ทำให้เกิดรูโหว่ ซึ่งอวัยวะภายใน จะเล็ดรอดออกมาได้ คนไข้จะรู้สึกมีก้อนตุงที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะเวลายืน,ไอ,จาม หรือเบ่ง บางรายมีอาการปวดหน่วงร่วมด้วย ก้อนจะเลื่อนเข้าออกได้ เองเมื่อดันกลับหรือนอน แต่ถ้าก้อนยื่นออกโดยที่กลับเข้าเองไม่ได้ อาจทำให้อวัยวะภายในโดยเฉพาะลำไส้ขาดเลือดซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินและอันตรายถึงชีวิต

        ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ภาวะที่มีการเพิ่มความดันในช่องท้อง ไม่ว่าจะเป็น ต่อมลูกหมากโต, ท้องผูกเรื้อรัง,การออกกำลังกายหนักๆ รวมถึงการตั้งครรภ์

       ศัลยแพทย์จะทำการตรวจร่างกายบริเวณทั้งในท่านอนและท่ายืน โดยทั่วไปการตรวจร่างกายเพียงอย่างเดียวมักพอเพียงในการวินิจฉัย ยกเว้นในคนไข้อ้วนที่มีผนังหน้าท้องหนาหรือไส้เลื่อนที่มีขนาดเล็กมากๆอาจส่งตรวจอัลตราซาวด์หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์เพิ่มเติม

       ไส้เลื่อนขาหนีบเป็นโรคที่จำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อรักษา การผ่าตัดแบ่งออกเป็น 2 วิธีดังนี้

  1. ผ่าตัดแบบเปิด ศัลยแพทย์จะเปิดแผลตามขวางบริเวณขวางบริเวณขาหนีบข้างที่เป็น เพื่อซ่อมแซมโดยวางแผ่นตาข่ายสังเคราะห์เพื่อเพิ่มความแข็งแรง

       2.ผ่าตัดผ่านกล้อง ศัลยแพทย์จะเจาะรูที่ผนังหน้าท้องทั้งหมด 3 รู เล็กๆ เพื่อปิดรูโหว่จากทางด้านในโดยใช้แผ่นตาข่ายสังเคราะห์ชนิดพิเศษ ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้องได้แก่ อาการปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่าแบบเปิดเนื่องจากแผลมีขนาดเล็ก คนไข้จะสามารถลุกเดินได้วันรุ่งขึ้นหลังผ่าตัด แนะนำให้ทำผ่าตัดผ่านกล้องในรายที่เป็นสองข้างเนื่องจากสามารถทำได้พร้อมกันหรือมีอาการกลับเป็นซ้ำจากการผ่าแบบเปิด

         ภาวะแทรกซ้อนสามารถพบได้แต่ไม่รุนแรงเช่น ภาวะน้ำเหลืองหรือเลือดคั่งบริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะซึ่งมักจะหายได้เอง

         หลังผ่าตัดศัลยแพทย์จะนัดดูแผลที่หนึ่งสัปดาห์เพื่อเปลี่ยนพลาสเตอร์กันน้ำ แนะนำให้งดการออกกำลังกายและยกของหนักประมาณหนึ่งเดือน


บทความโดย

นพ.วิทวัส โอมพรนุวัฒน์
นพ.วิทวัส โอมพรนุวัฒน์

ศัลยแพทย์ทั่วไปและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยกรรมผ่าตัดผ่านกล้อง (GENERAL AND MINIMALLY INVASIVE / LAPAROSCOPIC SURGEON)


บทความน่ารู้

ผ่าตัดกระดูกสันหลัง

ผ่าตัดกระดูกสันหลัง

การผ่าตัดกระดูกสันหลัง มักเกิดขึ้นเมื่อมีภาวะที่ต้องการแก้ไขที่สันหลัง เช่น การได้รับบาดเจ็บจากการบาดเจ็บของกระดูกหรือเนื้อเยื่อรอบๆ สันหลัง