โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ STD
21/10/2567 08:07:19 | Views: 319
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นอย่างไร
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexual-Transmitted diseases: STDs) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่มีการติดต่อระหว่างผู้มีเชื้อกับผู้รับเชื้อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์ ทางอวัยวะเพศ ช่องคลอด ทวารหนัก ทางปาก รวมถึงการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อ เช่น อสุจิ เลือด น้ำในช่องคลอด และของเหลวในร่างกายอื่นๆ รวมทั้งยังสามารถติดต่อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ผ่านจากการให้เลือดหรือถ่ายโอนเลือด หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้ติดสารเสพติด
ประเภทของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
1. กลุ่มเชื้อไวรัส เช่น
- เริม (Herpes Simplex) สามารถพบได้ในหลายตำแหน่ง เช่น ที่ริมฝีปาก หรือบริเวณอวัยวะเพศ เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่เป็นโรคเชื้อไวรัสแล้วเข้าสู่ผิวหนัง
- หูดหงอนไก่ เกิดจากเชื้อที่เรียกว่า Human Papilloma Virus หรือ HPV ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์หรือการสัมผัส อาการที่พบคือมีติ่งเนื้อนูนคล้ายดอกกะหล่ำ อาจมีอาการคัน และเจ็บหรือมีเลือดออก ทั้งนี้มีโอกาสเป็นซ้ำได้บ่อย
- หูดข้าวสุก เกิดจากเชื้อไวรัส Molluscum Contagiosum Virus (MCV) โดยอาการที่พบ คือ มีผิวเรียบ แต่ละตุ่มมีรูตรงกลาง ซึ่งเมื่อสุกดีจะบีบของเหลวข้นๆ ออกจากรูได้คล้ายข้าวสุก ในบางรายติ่งเนื้อ หรือตุ่มมีขนาดเล็ก
- ไวรัสตับอักเสบบี โดยจะมีอาการมีไข้ มีอาการเจ็บบริเวณชายโครงขวา มีตัวเหลืองตาเหลืองและอาจทำให้เกิดภาวะตับวายจนเสียชีวิตได้
- เอดส์ เกิดจากการติดเชื้อ HIV ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เชื้อจะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันโรคทำให้ติดเชื้อโรคอื่นๆ ได้ง่าย และทำให้ถึงแก่ชีวิต
2. กลุ่มเชื้อแบคทีเรีย เช่น
- ซิฟิลิส ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์และจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Treponema Pallidum ซึ่งอาศัยอยู่ได้ในทุกส่วนของร่างกาย ผู้ติดเชื้อจะอาการแตกต่างกันตามระยะของโรค เช่น มีแผลที่อวัยวะเพศ มีผื่นขึ้นตามตัว มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือไม่มีอาการใด ๆ
- หนองในแท้ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Neisseria gonorrhoeae อาการหนองในระหว่างผู้หญิงและผู้ชายจะต่างกันออกไป โดยในผู้ชายจะมีปัสสาวะแสบขัดมีหนองไหลจากท่อปัสสาวะ สำหรับในผู้หญิงมักไม่มีอาการหรือมีเพียงตกขาวผิดปกติ ไม่คัน แต่สิ่งทีเหมือนกันอย่างแรกคือเชื้อจะเริ่มแสดงอาการหลังจากได้รับเข้าสู่ร่างกายไม่เกิน 1 สัปดาห์ ทั้งนี้บางรายอาจไม่ได้มีอาการอะไรเลย
- แผลริมอ่อน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Haemophilus Ducreyi จะทำให้เนื้อเยื่อที่อยู่บริเวณอวัยวะเพศ มีอาการเปื่อย
3. กลุ่มเชื้ออื่นๆ
ได้แก่ เชื้อรา เช่น เชื้อราในช่องคลอด เป็นต้น เชื้อปรสิต เช่น โลน หิด พยาธิในช่องคลอด เป็นต้น
อาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้
อาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะแตกต่างกันออกไปตามชนิดของโรค ซึ่งอาการต่างๆ อาจเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศอย่างเดียว หรืออวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ทั้งหมด โดยเราสามารถสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้
- มีตกขาวผิดปกติ หรือตกขาวเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ
- ตกขาวมีกลิ่น มีอาการคัน หรือระคายเคือง
- มีตุ่ม มีผื่น หรือแผล บริเวณอวัยวะเพศ
- อาจมีน้ำเหลืองหรือน้ำหนอง ไหลออกมาจากปลายอวัยวะเพศชาย
- ปัสสาวะแสบขัด
- มีอาการเจ็บแสบ หรือเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- มีอาการระคายเคืองที่อวัยวะเพศ
เมื่อสงสัยว่าอาจติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ควรทำอย่างไร
เมื่อพบว่ามีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือเพิ่งมีความเสี่ยงในการติดโรค ควรรีบปรึกษาแพทย์ และงดการมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราวเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อไปยังบุคคลอื่นจนกว่าจะทราบผลการตรวจ โดยเบื้องต้นแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยติดเชื้อชนิดใด ด้วยการซักประวัติและความเสี่ยงในการติดเชื้อ ร่วมกับการเจาะเลือด การเก็บปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่งส่งตรวจเพื่อวินิจฉัยยืนยันในห้องปฏิบัติการที่มีผลชัดเจน
การรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหาย และแนะนำให้คู่นอนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เข้ารับการตรวจรักษาด้วย ซึ่งการรักษาโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาให้หายได้ง่ายกว่า ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสทำได้โดยดูแลอาการไม่ให้กำเริบได้ แต่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด โดยวิธีการรักษามีดังนี้
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ใช้รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิต ได้แก่ หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส และเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะต้องได้รับการรักษาจนครบกำหนด นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ
- ยาต้านไวรัส (Antivirus) ใช้รักษาผู้ป่วยโรคเริม โดยควรรับยาต้านไวรัสร่วมกับการดูแลสุขภาพ แต่เชื้อจะยังหลงเหลืออยู่ในร่างกาย เมื่อไหร่ที่ร่างกายอ่อนแอ อาจจะกลับมาแสดงอาการอีกครั้ง และผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้แม้จะมีโอกาสเสี่ยงต่ำก็ตาม ทั้งนี้ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง จะช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสให้น้อยลงจนตรวจหาแทบไม่พบ นอกจากนี้ ยาต้านไวรัสยังใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี
การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- การใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีและทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- การมีคู่นอนคนเดียว
- หากเปลี่ยนแฟนใหม่ควรตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก่อนมีเพศสัมพันธ์
- การเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคหนองในแท้และหนองในเทียมปีละครั้ง โดยเฉพาะหญิงอายุน้อยกว่า 25 ปีที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อย หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือกลุ่มชายรักชาย
- การตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสอย่างน้อยปีละครั้งในกลุ่มชายรักชาย
- หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจคัดกรองซิฟิลิส เอชไอวีและไวรัสตับอักเสบบี
- งดมีเพศสัมพันธ์หากสงสัยว่ามีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่นมีตุ่มน้ำหรือแผลที่บริเวณอวัยวะเพศ
- การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV สำหรับคนที่มีอายุ 9-45 ปี และ ควรฉีดวัคซีน ป้องกันไวรัสตับอักเสบเอและบี ในกรณีที่ยังไม่มีภูมิต้านทานด้วย