การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
19/07/2567 16:14:50 | Views: 1,561
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม เป็นการผ่าตัดที่ใช้ในภาวะของข้อสะโพกที่เสื่อมสภาพหรือเสียหายโดยการแทนที่ส่วนที่เสื่อมและเสียหายนั้นๆด้วยข้อสะโพกเทียม ซึ่งกระบวนการนี้มักใช้ในกรณีของโรคข้อเสื่อม (osteoarthritis) หรือข้อสะโพกได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงจนทำให้มีการจำกัดการเคลื่อนไหวและทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแย่ลง
การผ่าตัดปลี่ยนข้อสะโพกเทียมจะเป็นการตัดส่วนของข้อสะโพกที่เสื่อมออกและแทนที่ด้วยข้อสะโพกเทียมที่ทำจากวัสดุโลหะ และมีส่วนที่เป็นพอลิเมอร์ หรือชิ้นส่วนเสริมเพื่อเสริมความแข็งแรงของข้อสะโพก การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมมีเป้าประสงค์ให้ผู้ป่วยกลับสู่การเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น ลดอาการปวดและ สามรถประกอบกิจวัตรประจำวันได้
กลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นข้อสะโพกเสื่อม
โรคข้อสะโพกเสื่อม (Osteoarthritis of the hip) มักพบได้ในกลุ่มคนที่มีปัจจัยเสี่ยงดังนี้
- ผู้สูงอายุ โรคข้อสะโพกเสื่อมมักพบได้บ่อยขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปเนื่องจากคุณภาพกระดูกและเนื้อเยื่อเสื่อมลง
- มีประวัติคนในครอบครัวที่เป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม โรคนี้อาจมีลักษณะที่สามารถถ่ายทอดได้ในบางกรณี ดังนั้นหากมีคนในครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคข้อสะโพกเสื่อม อาจเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคข้อสะโพกเสื่อมได้
- การบาดเจ็บของข้อสะโพก การบาดเจ็บรุนแรง กระดูกหัก หรือข้อหลุด อาจส่งผลต่อโรคข้อสะโพกเสื่อมในอนาคต ซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุหรือการใช้งานที่ผิดปกติของข้อสะโพก
- น้ำหนักตัวมากเกินไป การมีน้ำหนักเกินมากจะเพิ่มแรงกดที่ข้อสะโพกและทำให้เกิดการเสื่อมของกระดูกได้เร็วขึ้น
- กิจกรรมทางกีฬาหรือการใช้งานที่กดทับที่ข้อสะโพก กิจกรรมที่ทำให้ข้อสะโพกถูกบีบอัดหรือกระทบกระแทกต่อข้อสะโพกอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคข้อสะโพกเสื่อมได้ เช่น การเล่นกีฬาที่ต้องพุ่ง, กระโดด กระแทกหรือหมุนข้อสะโพกมาก หรือการทำงานที่ต้องรับน้ำหนักลงข้อสะโพก
อาการที่ควรผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
การผ่าตัดใส่ข้อสะโพกเทียมมักถือเป็นทางเลือกในการรักษาเมื่อผู้ป่วยมีอาการมาก จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย แต่การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมอาจมีรายละเอียดแตกต่างกันได้ และอาจไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ข้อมูลเกี่ยวกับการผ่าตัดควรได้รับคำแนะนำเป็นเฉพาะรายไป แต่โดยทั่วไปอาการที่ควรได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมมีดังนี้
- โรคข้อเสื่อมระยะรุนแรง สำหรับบางคนที่มีโรคข้อเสื่อมของข้อสะโพกรุนแรงจนเกิดความเจ็บปวด และจำกัดความสามารถในการเคลื่อนไหวอย่างมาก การผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมอาจช่วยลดอาการเจ็บปวดและเพิ่มพิสัยในการเคลื่อนไหวของข้อสะโพก
- บาดเจ็บหรืออุบัติเหตุรุนแรง การบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในข้อสะโพกอาจทำให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงในข้อสะโพกจนอาจเกินความสามารถของร่างกายในการซ่อมแซม ผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมสามารถช่วยผู้ป่วยให้ฟื้นฟูร่างกายได้
- ภาวะหัวกระดูกสะโพกถูกทำลายจากสาเหตุต่างๆ อาทิ ภาวะหัวกระดูกสะโพกตาย เนื้องอกบางชนิด ภาวะแทรกซ้อนจากการอักเสบเรื้อรัง รูมาตอยด์ การติดเชื้อ เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมเพื่อทดแทนส่วนที่ถูกทำลายไป
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด
- ควรงดสูบบุหรี่ก่อนเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียมอย่างน้อย 2 สัปดาห์เพื่อให้การทำงานของปอด และหลอดลมดีขึ้น โดยจะช่วยป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อของแผล และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่อาจเกิดตามมาได้ในอนาคต
- ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี เช่น โรคเบาหวานซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อหรือโรคความดันโลหิตสูงซึ่งอาจทำให้เลือดออกมากในระหว่างผ่าตัด
- ปรึกษาแพทย์เพื่องดทานยาบางชนิด ได้แก่ ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด ยารักษารูมาตอยด์ ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ รวมทั้งสมุนไพรและอาหารเสริมต่างๆ เพราะว่ายาเหล่านี้อาจส่งผลต่อการผ่าตัด เช่น เลือดแข็งตัวช้า เลือดออกมาก หรือเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังผ่าตัด หรืออาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ
การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม
หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อสะโพกเทียม การทำกายบริหารหลังการผ่าตัดเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวและเสริมสร้างกล้ามเนื้อในพื้นที่ที่เป็นหลักของข้อสะโพก แม้จะต้องปฏิบัติการทำกายบริหารอย่างระมัดระวังและพอสมควร แต่การฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้คุณฟื้นฟูก่อนการผ่าตัดได้โดยรวดเร็วมากขึ้น
- ระมัดระวังในการเคลื่อนไหวบางท่า ผู้ป่วยสามารถเดินได้ทันทีภายในวันที่ผ่าตัดและใช้เวลาแค่ 3 ถึง 4 วัน ก็สามารถกลับบ้านได้ แต่ว่าผู้ป่วยยังคงต้องระมัดระวังในการเคลื่อนไหวบางท่าทางในช่วง 2 เดือนแรก เช่น ท่าที่ต้องบิดเท้าออกด้านนอกตัว ท่านั่งพับเพียบ และการก้มเก็บของที่พื้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนกับข้อสะโพกที่อาจตามมาได้
- บริหารกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพก สิ่งที่ผู้ป่วยควรทำเป็นประจำ คือ การบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อสะโพก โดยผู้ป่วยจะต้องบริหารกล้ามเนื้อตามที่แพทย์และนักกายภาพบำบัดแนะนำ เพื่อให้กล้ามเนื้อรอบข้อสะโพกกลับมาแข็งแรง และสามารถใช้งานได้อย่างปกติเร็วขึ้น
- ดูแลสุขภาพ และโรคประจำตัว สิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยต้องปฏิบัติทั้งก่อน และหลังเข้ารับการผ่าตัด
ข้อสะโพกเทียม คือ การดูแลสุขภาพ และโรคประจำตัวอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังจากเข้ารับการผ่าตัด และสามารถกลับไปใช้งานข้อสะโพกได้เป็นปกติอย่างรวดเร็ว
บทความโดย
นพ.ปิยะ อัศวบุญญาเดช
ศัลยแพทย์กระดูก-ข้อ /ออร์โธปิดิกส์และผู้เชี่ยวชาญทางเนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน