โรค “ข้อเข่าเสื่อม”

โรค “ข้อเข่าเสื่อม”

17/09/2567 16:03:15 | Views: 2,945

สัญญาณเตือน ‘ข้อเข่าเสื่อม’ ที่ต้องสังเกต

  • เจ็บตึงหัวเข่าเวลาที่นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ นั่งยองๆ หรือคุกเข่า
  • หลังจากนั่งนานๆ พอจะลุกขึ้น กลับรู้สึกข้อเข่าฝืดขัดอยู่บ่อยๆ
  • มีเสียงลั่น หรือดังกรอบแกรบในหัวเข่า
  • รู้สึกปวดเข่าเวลาเดินหรือขึ้นลงบันได

ความรุนแรงและอาการของโรคข้อเข่าเสื่อม โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

  1. ระยะเริ่มแรก จะมีอาการเจ็บตึงข้อเข่าแบบเป็นๆ หายๆ หรือเจ็บตึงเมื่อมีการกดทับที่ข้อเข่า ปวดเข่าเวลาเคลื่อนไหว เช่น เดินขึ้นลงบันได แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อได้พัก กรณีเมื่อต้องอยู่ในท่าเดิมนานๆ พอเริ่มขยับก็จะรู้สึกถึงการฝืดหรือการเสียดสีของกระดูกข้อเข่า และมีเสียงดังในข้อ
  2. ระยะแสดงอาการที่ชัดเจน จะปวดข้อเข่าแม้ขณะอยู่เฉยๆ และอาจมีอาการข้อเข่าอ่อนแรงร่วมด้วย ซึ่งจะเกิดขึ้นต่อเมื่อกระดูกอ่อนผิวข้อเข่าเริ่มสึกกร่อน ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณข้อเข่าเกิดการอักเสบ อาการปวดจะรุนแรงขึ้น เหยียดหรืองอข้อเข่าได้ไม่ค่อยสุด
  3. ระยะรุนแรง สังเกตได้จากการที่ข้อเข่าเริ่มมีการผิดรูป โก่งงออย่างชัดเจน ข้อเข่าหลวมหรือเบี้ยวผิดรูป กล้ามเนื้อต้นขาลีบ ทำให้เดินและใช้ชีวิตประจำวันลำบาก มีอาการปวดเวลาเดินหรือขยับจนไม่สามารถลงน้ำหนักที่หัวเข่าได้ กรณีนี้อาจต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า จึงจะสามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ

รู้ทันข้อเข่าเสื่อมด้วยการเอกซเรย์ข้อเข่า

การเอกซเรย์ข้อเข่าจะทำให้พบการสึกกร่อนของกระดูกอ่อนข้อเข่าได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งการพบเร็วในระยะที่ยังไม่รุนแรงนี้ทำให้มีทางเลือกในการรักษามากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมเสมอไป ในรายที่ยังไม่มีการสึกกร่อนของข้อเข่านั้นสามารถรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เหมาะสม แต่หากข้อเข่าเริ่มมีการสึกกร่อนไปแล้วก็ต้องทำการรักษาโดยการใช้ยาควบคู่กับการบริหารกล้ามเนื้อข้อเข่า ซึ่งแพทย์ก็จะติดตามอาการและการดำเนินโรคอย่างต่อเนื่อง หากอาการยังไม่ดีขึ้นแพทย์อาจแนะนำให้ฉีดน้ำเลี้ยงข้อเข่าสังเคราะห์ หรือ Hyaluronic Acid ที่ช่วยเสริมการหล่อลื่น ลดแรงเสียดทาน และกระตุ้นการสร้างน้ำเลี้ยงข้อเข่าใหม่ ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อันตรายแค่ไหน หากไม่รักษาข้อเข่าเสื่อม?

หากพบว่ากระดูกอ่อนข้อเข่าเริ่มมีการสึกกร่อนแล้วไม่รีบทำการรักษา ร่างกายของเราจะรับรู้ได้โดยอัตโนมัติ และจะหลีกเลี่ยงการใช้งานข้อเข่าข้างที่บาดเจ็บ ทำให้ข้อเข่าอีกข้างต้องรับภาระมากเกินความจำเป็น ซึ่งก็จะส่งผลให้ข้อเข่าที่ปกติอยู่เสื่อมตามไปด้วยเร็วกว่าที่ควร ท้ายที่สุดข้อเข่าก็จะเสียหายจนไม่สามารถฟื้นฟูได้ทั้ง 2 ข้าง จนต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น

วิธีดูแลข้อเข่าให้แข็งแรง

  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • บริหารกล้ามเนื้อรอบๆ หัวเข่าให้แข็งแรงอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือท่านั่งที่ต้องงอเข่ามากกว่า 90 องศา เช่น การนั่งยองๆ การนั่งขัดสมาธิ การนั่งพับเพียบ หรือคุกเข่า
  • หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่ต้องมีการปะทะ เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดการบาดเจ็บของข้อเข่า
  • หากมีโรคประจำตัวที่ส่งผลให้เยื่อบุข้ออักเสบ เช่น โรครูมาตอยด์ ควรดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด ทานยาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง
  • เมื่อมีการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาอย่างถูกวิธี

 


บทความโดย

พญ.ณิชากร  สี่หิรัญวงศ์
พญ.ณิชากร สี่หิรัญวงศ์

รังสีแพทย์


บทความน่ารู้

ประจำเดือนมาไม่ปกติ

ประจำเดือนมาไม่ปกติ

ประจำเดือนถือเป็นสิ่งหนึ่ง ที่บ่งบอกถึงสุขภาพในการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงทุกคน หากประจำเดือนมาไม่ปกติ จะสังเกตได้จากประจำเดือนไม่มา มามากหรือน้อยเกินไป หรือประจำเดือนห่าง เป็นต้น

ความแตกต่างสำคัญระหว่าง MRI กับ CT Scan

ความแตกต่างสำคัญระหว่าง MRI กับ CT Scan

การตรวจ CT (Computerized Tomography) และ MRI (Magnetic Resonance Imaging) ที่ถือว่าเป็นเครื่องมือช่วยในการตรวจวินิจฉัยที่สำคัญมาก การตรวจหาความผิดปกติอวัยวะต่างๆ มีความแตกต่างที่สำคัญหลายอย่าง ดังนี้