ความแตกต่างสำคัญระหว่าง MRI กับ CT Scan

ความแตกต่างสำคัญระหว่าง MRI กับ CT Scan

22/08/2567 15:04:04 | Views: 990

หลักการทำงาน CT scan และ MRI

CT scan เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ที่ใช้วิธีการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติอวัยวะต่างๆ ในร่างกายด้วยการปล่อย     X-Ray ผ่านอวัยวะที่ต้องการตรวจ แล้วใช้คอมพิวเตอร์สร้างเป็นภาพอวัยวะภายในร่างกาย แบบ 3 มิติ

MRI มีหลักการทำงาน คือใช้วิธีการสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้ารอบตัวผู้รับการตรวจ และตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็ก จากนั้นจะประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์สร้างเป็นภาพอวัยวะภายในร่างกาย แบบ 3 มิติ

 

ระยะเวลาในการตรวจ

CT scan หลอดเอกซเรย์จะปล่อย X-Ray ไปพร้อมๆ กับการหมุนรอบอวัยวะที่ต้องการตรวจ โดยระยะเวลาที่ใช้ในการหมุนให้ครบรอบนั้น ใช้เวลาเพียง 1-2 วินาที ซึ่งรวมแล้วจะใช้เวลาตรวจอยู่ประมาณ 10-15 นาที ต่อในการตรวจอวัยวะนั้นๆ

MRI การตรวจ MRI เป็นขั้นตอนที่ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด แต่การทำ MRI จะใช้เวลานานกว่า CT โดยการตรวจแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 30-90 นาที ทั้งนี้ยังขึ้นกับรอยโรคที่สงสัย และความร่วมมือของผู้รับการตรวจร่วมด้วย จึงอาจมีผลให้กับผู้เข้ารับการตรวจบางรายที่กลัวที่แคบ (claustrophobia)

การตรวจวินิจฉัย

CT Scan ตรวจวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับกระดูก เช่น รอยแตกร้าวของกระดูกและการทำลายกระดูกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการตรวจแบบอื่นๆ รวมทั้งยังเหมาะกับการตรวจวินิจฉัยอาการป่วยต่างๆ อาทิ การบาดเจ็บเสียหายของอวัยวะภายใน ภาวะเลือดออกของอวัยวะภายใน เนื้องอก การเกิดลิ่มเลือด ตรวจภายในช่องท้องและอุ้งเชิงกราน และปอด เป็นต้น ทั้งนี้ยังสามารถตรวจดูขนาดของก้อนเนื้องอก และตรวจติดตามผลหลังการรักษามะเร็งได้อีกด้วย

MRI ให้ภาพที่แยกความแตกต่างระหว่างเนื้อเยื่อได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก แยกชนิดของความผิดปกติ และบอกรายละเอียดของความผิดปกติได้ดีกว่า CT เหมาะกับตรวจวินิจฉัยอาการป่วยต่างๆ อาทิ ความผิดปกติของสมอง เช่น เนื้องอกในสมอง สมองขาดเลือด ฯลฯ ความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด ตรวจเช็คหมอนรองกระดูกและเส้นประสาทไขสันหลังในบางสภาวะ เช่น โพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ กระดูกทับเส้นประสาท ความผิดปกติของไขสันหลัง เป็นต้น

 

ข้อจำกัดในการตรวจ

CT scan ในการตรวจจำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสี (Contrast Material) เพื่อเพิ่มความชัดเจนของภาพ เช่น ในกรณีที่ต้องดูเนื้องอกหรือเส้นเลือด ซึ่งอาจมีผู้รับการตรวจบางรายแพ้สารทึบรังสี หรือมีโอกาสทำให้เกิดพิษกับไตได้ โดยเฉพาะ ในผู้ที่มีภาวะไตเสื่อม ผู้สูงอายุ จึงต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ

MRI การตรวจ MRI ไม่เหมาะกับผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือโลหะภายในร่างกายบางชนิด เนื่องจากผู้รับการตรวจจะต้องเข้าไปอยู่ในสนามแม่เหล็กขนาดใหญ่ ดังนั้น หากมีโลหะทั้งภายในและภายนอกร่างกาย เข้าไปอยู่ในสนามแม่เหล็กนั้นด้วย ก็อาจจะเกิดการเคลื่อนที่ และเป็นอันตรายได้ จึงจำเป็นต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนการตรวจ


บทความโดย

พญ.ณิชากร  สี่หิรัญวงศ์
พญ.ณิชากร สี่หิรัญวงศ์

รังสีแพทย์


บทความน่ารู้

Holter monitor เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง

Holter monitor เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง

อุปกรณ์ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพาและสวมใส่ได้เพื่อบันทึกการเต้นของหัวใจและตรวจหาจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ

กระดูกพรุนระยะแรกไม่มีอาการ..!!

กระดูกพรุนระยะแรกไม่มีอาการ..!!

ตรวจมวลกระดูก...เพื่อค้นหาความเสี่ยงของภาวะกระดูกพรุน