หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม รักษาได้

หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม รักษาได้

23/07/2567 10:55:47 | Views: 1,481

หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม รักษาได้ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

             ในปัจจุบันพบว่า คนทั่วไปมีอาการของโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมกันอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะคนหนุ่มสาววัยทำงานที่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้หมอนรองกระดูกเสื่อมไวกว่าปกติและมีอาการปวดต่าง ๆ ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน   อาการหลักที่พบในโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมในผู้ที่อาการไม่รุนแรง คือ อาการปวดตื้อ ๆ บริเวณเอว โดยอาจมีอาการปวดร้าวลงมาที่กล้ามเนื้อด้านข้างของหลังและสะโพก และอาการจะแสดงชัดเจนขึ้นเมื่อนั่ง ยืน หรือเดินนาน ๆ หรือขับรถระยะทางไกล ๆ แต่เมื่อนอนพัก 10 ถึง15 นาที อาการปวดจะทุเลาลง ส่วนในบางรายที่มีอาการรุนแรง เกิดเป็นภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท จะมีอาการชา แขนขา และเท้าอ่อนแรง ตามแนวเส้นประสาทส่วนที่ถูกกดทับ 

การเสื่อมสภาพของหมอนรองกระดูกสันหลังคืออะไร

           โดยทั่วไป การเปลี่ยนแปลงของหมอนรองกระดูกสันหลังจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วัยรุ่น เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับลักษณะการใช้งานกระดูกสันหลังอย่างหนักและกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ การสังเคราะห์และการเผาผลาญโปรตีโอไกลแคน (Proteoglycan) ที่อยู่ในส่วนกลางของหมอนรองกระดูกสันหลังจะเริ่มเกิดการถดถอย จะส่งผลทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังสูญเสียความสามารถในการอุ้มน้ำ เกิดภาวะที่แห้งลงและสูญเสียความยืดหยุ่นและแรงดึงตัวคงสภาพความสูงคล้ายลูกโป่งอัดแก๊สที่รั่วซึม จนสามารถส่งผลให้เกิดภาวะที่ตามมาดังต่อไปนี้  

  • การยุบตัวของหมอนรองกระดูกสันหลัง
  • การกระจายแรงและน้ำหนักอย่างไม่เหมาะสมของกระดูกสันหลัง
  • การสูญเสียความสามารถในการรับและกระจายน้ำหนักของกระดูกสันหลัง

          โดยปกติ ขอบนอกของหมอนรองกระดูกสันหลัง จะมีลักษณะเป็นเส้นใยหลายๆ ชั้นประสานกัน เมื่อเส้นใยเหล่านี้เกิดการฉีกขาดจากด้านใน ส่งผลทำให้ขอบด้านนอกของหมอนรองกระดูกสันหลังบางลง คล้ายยางรถยนต์ที่เส้นใยผ้าใบที่เกิดการฉีกขาด โดยเมื่อได้รับแรงหรือน้ำหนักกดทับ จะเกิดการโป่งพองและแรงกดดันต่อเนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบที่มีระบบประสาทรองรับ ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวดบริเวณแผ่นหลัง หรือหากหมอนรองกระดูกสันหลังเกิดการโป่งนูนตามแนวของไขสันหลังและเส้นประสาท ก็จะทำให้เกิดอาการปวดร้าวในบริเวณดังกล่าวได้เช่นกัน   ในบางกรณี หากเกิดการกระทบกันของหมอนรองกระดูกสันหลังในส่วนที่เป็นของเหลว ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยดูดซับน้ำหนัก จนส่งผลต่อกระดูกอ่อนบริเวณที่ปิดด้านบนและด้านล่างของหมอนรองกระดูก ก็อาจเกิดการแตกร้าว และเมื่อร่างกายเริ่มกระบวนการซ่อมแซมบริเวณที่ได้รับความเสียหายผ่านหลอดเลือดและเส้นประสาทที่งอกเข้าไปในบริเวณนั้น ๆ ก็จะทำให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดจากน้ำหนักหรือแรงที่กดทับลงมาได้มากขึ้น

 

แนวทางการรักษาภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม

           เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่า อาการปวดเฉพาะจุดบริเวณแผ่นหลังมีสาเหตุเกิดจากภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม แพทย์จะเสนอแนวทางในการรักษาตามอาการของผู้ป่วยในแต่ละราย โดยแนวทางหลักในการรักษามี 2 วิธีตามลำดับ คือ

  1. การรักษาแบบประคับประคอง คือ การชะลอเพื่อไม่ให้หมอนรองกระดูกเสื่อมไวขึ้น แพทย์จะทำการรักษาด้วยยา พร้อมแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักและทำกายภาพบำบัด หลังจากนั้นจะติดตามผลการรักษาว่ามีแนวโน้มไปในทิศทางใด โดยหากผู้ป่วยมีแนวโน้มที่แย่ลงกว่าเดิม หรือมีอาการทางระบบประสาทแทรกซ้อน เช่น รู้สึกปวดเพิ่มขึ้นเวลาใช้งานหรือปวดตามแนวเส้นประสาทขณะนอนหลับ มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือฝ่อลีบ รู้สึกชาหรือสูญเสียความรู้สึก และมีอาการไอ จาม ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรือไม่สามารถปัสสาวะเองได้ แพทย์จะดำเนินการตรวจหารอยโรคเพิ่มเติมโดยการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมในขั้นต่อไป
  2. การผ่าตัด หากการรักษาโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทขั้นต้นไม่เป็นผล แพทย์จะทำการประเมินรอยโรคของผู้ป่วยโดยอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของตน เพื่อเลือกวิธีการผ่าตัดที่ปลอดภัยและเหมาะสมที่สุด โดยในปัจจุบัน วิวัฒนาการการรักษาด้วยการผ่าตัดมีความก้าวหน้าอย่างมาก แตกต่างจากในอดีตที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเจ็บตัวน้อยและมีความปลอดภัยมากขึ้น แผลมีขนาดเล็กต่างจากการผ่าตัดทั่วไป โดยแนวทางการผ่าตัดสามารถแบ่งย่อยได้เป็นวิธีต่าง ๆ ดังนี้
  • การสลายหมอนรองกระดูกสันหลังในส่วนที่เป็นสารกึ่งเหลว เป็นการรักษาเพื่อมุ่งลดแรงดันภายในหมอนรองกระดูกสันหลัง ซึ่งประกอบด้วยหลากหลายวิธีการ อาทิเช่น การใช้คลื่นความถี่สูง การใช้อุปกรณ์ดูดออก และการส่องกล้อง เป็นต้น
  • การผ่าตัดเปิดแผลเพื่อนำหมอนรองกระดูกสันหลังในส่วนที่เป็นสารกึ่งเหลวออก ประกอบด้วย การใช้กล้องจุลทัศน์ การผ่าตัดเปิดแผลเล็ก และผ่าตัดเปิดแผลตามปกติ
  • การผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลัง เป็นการรักษาโดยการตรึงกระดูกสันหลังเข้าด้วยกันผ่านทางแผลผ่าตัดขนาดเล็ก โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์นำวิถี
  • การผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกสันหลัง

 

             การรักษาที่ดีที่สุด คือทำให้คนไข้หายโดยไม่ต้องผ่าตัดหรือผ่าตัดแล้วเกิดความเสียหายน้อยที่สุด ปลอดภัยสูง แผลมีขนาดเล็ก เสียเลือดน้อย ไม่ต้องพักฟื้นนาน ทางโรงพยาบาลอินทรารัตน์ มีความพร้อมทั้งในด้านเครื่องมือและทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ พร้อมทีมพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมโดยตรงในการดูแลผู้ป่วยหลังผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

 

 


บทความโดย

นพ.ปิยะ อัศวบุญญาเดช
นพ.ปิยะ อัศวบุญญาเดช

ศัลยแพทย์กระดูก-ข้อ /ออร์โธปิดิกส์และผู้เชี่ยวชาญทางเนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน


บทความน่ารู้

สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณ เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด

สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณ เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด

ภาวะคลอดก่อนกำหนด มีสัญญาณเตือนหลายอย่างที่คุณแม่สังเกตได้ วิธีสังเกตดังนี้...

ปวดหูบ่อย ปล่อยไว้อันตรายแน่

ปวดหูบ่อย ปล่อยไว้อันตรายแน่

ปวดหู เป็นอาการปวดบริเวณหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน อาจปวดในลักษณะตื้อ ๆ เจ็บแปลบ หรือรู้สึกแสบร้อน ซึ่งอาการปวดส่วนใหญ่จะอยู่ไม่นานแล้วค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายไป มักพบได้บ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และปวดหูเกิดจากอะไรได้บ้าง เรามีคำตอบ