โนโรไวรัสระบาดในเด็กและผู้ใหญ่

โนโรไวรัสระบาดในเด็กและผู้ใหญ่

19/12/2567 16:19:45 | Views: 2,383

การติดเชื้อท้องเสียโนโรไวรัส (Norovirus)  
เป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุการระบาดของโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบที่พบได้บ่อยทั่วโลก  พบได้บ่อยในฤดูหนาว สามารถก่อโรคทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆได้ดี จึงระบาดได้ง่ายและแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในสภาพอากาศที่เย็น แม้ร่างกายจะได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็ตาม 


การติดเชื้อโนโรไวรัส จะเกิดขึ้นจากการรับประทานอาหาร น้ำดื่มน้ำแข็ง ผักผลไม้สด หอยนางรม ที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส หรือผ่านการสัมผัสกับพื้นผิวที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เช่น จาน ชาม ช้อน เป็นต้น แล้วนำนิ้วหรือสิ่งที่ปนเปื้อนเข้าปาก รวมถึงการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วยโดยตรง  

อาการและอาการแสดงของโนโรไวรัส
หากได้รับเชื้อนี้ภายใน 12 – 48 ชั่วโมง : ส่วนใหญ่จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องและท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำหลายครั้ง  อาการท้องเสียมักจะดีขึ้นภายใน 24 - 72 ชั่วโมง หลังจากเริ่มมีอาการป่วย
อาการที่พบได้บ่อย คือ
* คลื่นไส้ อาเจียน
* ถ่ายเหลวเป็นน้ำ
* ปวดท้อง

อาการร่วมที่อาจจะพบได้ คือ
* ปวดศีรษะ
* มีไข้
* ปวดเมื่อยตามตัว
* อ่อนเพลีย

(แม้ว่าอาการคลื่นไส้ อาเจียนจะดูรุนแรงพอสมควร แต่การตรวจร่างกายมักจะไม่มีอาการปวดเฉพาะที่หรือปวดเกร็งของหน้าท้อง ทำให้การวินิจฉัยแยกโรคจากสาเหตุอื่นๆ ที่มีอาการและอาการแสดงที่คล้ายกันทำได้ยาก เช่น ไส้ติ่งอักเสบ  ภาวะลำไส้กลืนกัน หรือ อาหารเป็นพิษจากการติดเชื้ออื่นๆ)

ภาวะแทรกซ้อน
สำหรับคนไข้ที่มีอาการอาเจียนมากและถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก +/-มีไข้ อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการขาดน้ำ & ขาดเกลือแร่มาก อ่อนเพลียมาก และหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจทำให้เกิดภาวะช็อค ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้

การวินิจฉัยโนโรไวรัส
โดยการเก็บตัวอย่างอุจจาระส่งตรวจพิเศษทางห้องปฏิบัติการ เพื่อดูการติดเชื้อ Norovirus 

การรักษาโนโรไวรัส 
ปัจจุบันยังไม่มียาที่กำจัดเชื้อไวรัสชนิดนี้โดยเฉพาะ การรักษาจึงเป็นการดูแลตามอาการที่เกิดขึ้น และส่วนใหญ่อาการต่างๆ จะดีขึ้นได้ในเวลา 3-4 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น
-> หากผู้ป่วยขาดน้ำไม่มาก อาจทดแทนด้วยการให้ดื่มน้ำเกลือแร่หรือการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด รับประทานอาหารอ่อนๆ ให้ยาแก้อาเจียนและยาแก้ปวดท้องตามอาการได้ 
-> ในรายที่มีภาวะขาดน้ำค่อนข้างมาก หรือมีอาเจียนมาก ปวดท้อง และถ่ายเป็นน้ำตลอด อาจเกิดอันตรายจากการขาดน้ำ ทำให้เกิดภาวะช็อค ความดันโลหิตต่ำ และเสียชีวิตได้ จึงควรพิจารณาให้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ และติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด

* ผู้ป่วยที่มีโอกาสเกิดอันตรายจากการขาดน้ำมากได้แก่ ผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆอยู่แล้ว *
 
การป้องกันโนโรไวรัส
ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนสำหรับป้องกันเชื้อโนโรไวรัสนี้
การป้องกันโดยทั่วไปคือ การดูแลสุขอนามัย “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” จะช่วยลดปัญหาการติดเชื้อนี้ได้ เพราะเป็นโรคที่ติดต่อได้อย่างง่ายและรวดเร็ว

วิธีป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ 

  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ อย่างน้อย 20 วินาที หลังการเข้าห้องน้ำหรือเปลี่ยนผ้าอ้อมเด็ก และ ก่อนทำหรือสัมผัสอาหาร  ก่อนรับประทานอาหาร & เลี่ยงการหยิบจับอาหารเข้าปาก **แอลกอฮอล์มีฤทธิ์น้อยในการทำลายโนโรไวรัส**
  • ใช้ช้อนกลางหากต้องรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
  • เลือกรับประทานอาหารที่สุก สะอาด สด ใหม่  หลีกเลี่ยงน้ำ น้ำแข็ง และอาหารที่ไม่สะอาด เพราะเชื้อจะสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในน้ำได้นาน
  • ล้างผัก ผลไม้สด ให้สะอาด ทำหอยนางรมหรือหอยชนิดอื่นให้สุกก่อนกิน
  • ควรแยกของใช้ส่วนตัว ช้อน ส้อม และเครื่องใช้ในบ้านของผู้ป่วยจากสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน
  • ทิ้งเศษอาเจียนและอุจจาระอย่างระมัดระวังโดยใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆซับไม่ให้มีการฟุ้งกระจาย และทิ้งลงในถุงพลาสติก
  • ควรแยกผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระ ของผู้ป่วยซักแยกต่างหากโดยเร็ว  หรือทิ้งให้เหมาะสม
  • ควรสวมถุงมือยางชนิดใส่ครั้งเดียวทำความสะอาดอุปกรณ์ และสิ่งของ พื้นผิวต่าง ๆ สถานที่ปนเปื้อน รวมทั้งเสื้อผ้า ขยะติดเชื้อ เช่น ผ้าอ้อม ผ้าเปื้อนอาเจียนหรืออุจจาระด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอรีน 1,000-5,000 ppm หรือใช้น้ำผสมน้ำยาซักผ้าขาว เช่น ไฮเตอร์ครึ่งฝาผสมในน้ำ 500-600 ซีซี แช่ทิ้งไว้ 30 นาที กรณีผ้าอ้อมสำเร็จรูป หลังจากแช่น้ำยาซักผ้าขาวแล้ว ให้แยกใส่ถุงขยะ 2 ชิ้น และรัดปากถุงให้แน่นใส่ในถังขยะ และจัดเก็บเป็นขยะติดเชื้อเช็ดทำความสะอาดพื้นที่ปนเปื้อนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของคลอรีน
  • ทำความสะอาดโถชักโครกให้สะอาดด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของคลอรีน 1,000 - 5,000 ppm โดยจุดสำคัญที่ต้องทำความสะอาดเป็นพิเศษ คือ ที่จับสายฉีดน้ำพื้นห้องส้วมที่รองนั่งส้วม ที่กดน้ำของโถส้วม ก๊อกน้ำ และกลอนประตู
  • ผู้ป่วยต้องงดการประกอบอาหาร เพราะสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้หลังจากมีอาการเป็นระยะเวลา 3 วัน และควรอยู่ห่างจากบุคคลอื่นๆ จนกว่าอาการท้องเสียและอาเจียนจะเริ่มหายไปหมดแล้วอย่างน้อย 48 ชั่วโมง
  • เด็กควรงดไปโรงเรียนหรือสถานที่รับเลี้ยงเด็กเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางจนกว่าจะหายเป็นปกติ

บทความน่ารู้

วิ่งมากไป เสี่ยงไตวายเฉียบพลัน

วิ่งมากไป เสี่ยงไตวายเฉียบพลัน

ปัญหาคาไตวันนี้..ว่ากันด้วยในเรื่องปัญหาสุขภาพทั้งหลาย สานวิ่งทั้งหลาย พลาดไม่ได้นะคะ

ปวดหูบ่อย ปล่อยไว้อันตรายแน่!!

ปวดหูบ่อย ปล่อยไว้อันตรายแน่!!

ปวดหู (Earache/Ear Pain) เป็นอาการปวดบริเวณหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน อาจปวดในลักษณะตื้อ ๆ เจ็บแปลบ หรือรู้สึกแสบร้อน ซึ่งอาการปวดส่วนใหญ่จะอยู่ไม่นานแล้วค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายไป มักพบได้บ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และปวดหูเกิดจากอะไรได้บ้าง เรามีคำตอบ