การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echo)

การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echo)

24/05/2567 11:06:28 | Views: 2,848

ข้อมูลการตรวจจะถูกแปลเป็นภาพบนจอมอนิเตอร์ที่แสดงให้เห็นถึงรูปร่าง ขนาดของหัวใจ การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจและลิ้นหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ การบีบและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจนั้นเป็นอย่างไร ทั้งยังเห็นขนาดของห้องหัวใจ การไหลเวียนเลือดในหัวใจ ตำแหน่งของหลอดเลือดที่เข้าและออกจากหัวใจ

ใครบ้างที่ควรตรวจหัวใจด้วยการทำ Echo ?
เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการหอบ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก บวม ซึ่งสงสัยว่าอาจเกิดจากโรคหัวใจ และผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติหรือผิดจังหวะ โดยแพทย์จะนำผลการตรวจที่ได้ไปวินิจฉัยร่วมกับผลการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หัวใจ การสวนหลอดเลือดหัวใจ เพื่อการวินิจฉัยโรคทางหัวใจให้ถูกต้องและชัดเจนขึ้น

ขั้นตอนการตรวจ Echo
เจ้าหน้าที่จะให้ผู้เข้ารับการตรวจเปลี่ยนเสื้อผ้าที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้ให้ แล้วนอนบนเตียงราบ จากนั้นจะทำการติดอุปกรณ์ไว้บริเวณทรวงอกเพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และดูอัตราการเต้นของหัวใจ โดยแพทย์จะใช้หัวตรวจทาเจลและถูหัวตรวจบริเวณหน้าอกและใต้ราวนม ใช้เวลาในการตรวจราว 30-45 นาที หรือไม่เกิน 1 ชม. การตรวจ Echo เป็นวิธีตรวจที่ปลอดภัย ไม่เจ็บ และสามารถตรวจซ้ำได้ตามดุลพินิจของแพทย์

การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจ Echo

  • ไม่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้า ไม่ต้องงดน้ำ งดอาหาร
  • หากมียาที่กินเป็นประจำต้องแจ้งให้แพทย์และพยาบาลทราบล่วงหน้า เพราะอาจส่งผลต่อการตรวจ และการทำงานของหัวใจ

การแปรผลและการประเมินผลตรวจ Echo
แพทย์จะประเมินผลตรวจจากการวิเคราะห์ภาพที่ได้ รวมถึงพิจารณาจากตัวเลขอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งจะช่วยให้พบรอยโรค หรือความเสี่ยงโรคต่างๆ ดังนี้

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจตาย โดยบอกได้ถึงตำแหน่งของกล้ามเนื้อหัวใจที่เสียหายหรือตายไปแล้ว
  • ประสิทธิภาพการทำงานขอหัวใจในการบีบและคลาย
  • ความรุนแรงของโรคลิ้นหัวใจทุกชนิด
  • โรคเยื่อหุ้มหัวใจ เช่น เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรัง มีน้ำขังในเยื่อหุ้มหัวใจ
  • โรคหัวใจที่มีความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจมีรูแต่กำเนิด

ทั้งนี้การตรวจ Echo จะดูได้เฉพาะโครงสร้างหัวใจ แต่จะไม่เห็นเส้นเลือดหัวใจ และอาจมองเห็นไม่ชัดเจนในผู้ที่อ้วนมาก เพราะไขมันอาจขัดขวางคลื่นความถี่สูงได้

เมื่อใดที่คุณรู้สึกว่าเหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก หรือมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจ วินิจฉัย และรับการรักษาให้ “หัวใจ” กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิมหรือป้องกันการลุกลามของโรค เพราะหากคุณไม่ดูแลสุขภาพ “หัวใจ” ร่างกายทั้งระบบก็พร้อมจะอ่อนแอตามไปด้วยเช่นกัน

 


บทความโดย

นพ.อาทิตย์  ฆารสว่าง
นพ.อาทิตย์ ฆารสว่าง

อายุรแพทย์ทั่วไปและแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจและหลอดเลือด


บทความน่ารู้

สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณ เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด

สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณ เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด

ภาวะคลอดก่อนกำหนด มีสัญญาณเตือนหลายอย่างที่คุณแม่สังเกตได้ วิธีสังเกตดังนี้...

การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST)

การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST)

การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย EST (Exercise Stress Test) คือการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะทำงานหนัก