ช่วงเวลาที่ คุณแม่ “รอคอย”

ช่วงเวลาที่ คุณแม่ “รอคอย”

20/10/2566 11:38:38 | Views: 8,318

สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์คลอดนั้น
อาจมีคำถามในใจว่าเราควรคลอดแบบธรรมชาติหรือผ่าคลอดดี 

แต่ในความเป็นจริงแล้วการตัดสินใจต้องผ่านการวินิจฉัยจากหมอก่อนเนื่องจากการคลอดเป็นสิ่งสำคัญต่อคุณแม่และลูกน้อย จึงไม่ควรตัดสินใจโดยปราศจากคำแนะนำหรือความคิดเห็นจากแพทย์

การคลอดคืออะไร
การคลอดเป็นกระบวนการธรรมชาติ โดยเป็นการคลอดปกติหรือการคลอดเองทางช่องคลอด อาจมีการใช้ยาช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดขณะคลอดหรือใช้เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คุณแม่ในการคลอดด้วย ซึ่งมี 4 ระยะ คือ

  1. ระยะปากมดลูกเปิดเริ่มตั้งแต่เจ็บครรภ์จริงจนถึงปากมดลูกเปิดหมด ครรภ์แรกใช้เวลาประมาณ 10-14 ชั่วโมง ครรภ์หลังใช้เวลาประมาณ 7-9 ชั่วโมง
  2. ระยะเบ่งคลอดเริ่มตั้งแต่ปากมดลูกเปิดหมดจนทารกคลอดครบ ครรภ์แรกใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ครรภ์หลังใช้เวลาประมาณ 30 นาที
  3. ระยะรกคลอดใช้เวลาประมาณ 30 นาที
  4. ระยะ2 ชั่วโมงแรกหลังคลอด
  • การคลอดจะมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ อันทำให้การคลอดประสบความสำเร็จ ได้แก่ คุณแม่มีแรงเบ่งดี มดลูกหดรัดตัวดี ปากมดลูกเปิดขยายได้ดี ช่องทางคลอดยืดขยายดี อัตราการเต้นของหัวใจทารกปกติ ทารกมีขนาดที่เหมาะสม เชิงกรานของคุณแม่ขนาดปกติ คุณแม่ร่างกายแข็งแรงดี และไม่หวาดกลัวหรือวิตกกังวลมากเกินไป

    ปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อไปรอคลอด
     ระหว่างรอคลอด เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณแม่คลอดง่าย  เมื่อไปถึงโรงพยาบาล คุณแม่จะได้รับบริการจากเจ้าหน้าที่ รวมทั้งวิธีปฏิบัติตัวในขณะรอคลอด ดังนี้
    - คุณแม่จะได้รับการสวนอุจจาระ โดยเมื่อสวนแล้ว คุณแม่ต้องพยายามถ่ายอุจจาระให้หมด เพื่อไม่ให้อุจจาระขวางช่องทางคลอดในขณะที่ศีรษะทารกเคลื่อนต่ำลงมา และไม่เลอะเทอะขณะเบ่งคลอด
    - ไม่กลั้นปัสสาวะ ถ้ากระเพาะปัสสาวะโป่งพองมาก จะขัดขวางการเคลื่อนต่ำลงของศีรษะทารก
    - งดอาหารและน้ำทางปาก ยกเว้นในรายที่ปากมดลูกเปิดน้อยจะได้รับประทานเป็นมื้อๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งการที่แพทย์มีคำสั่งให้งดน้ำและอาหารนั้น เพื่อเตรียมในกรณีฉุกเฉินในการผ่าตัดคลอด ดังนั้น พยาบาลจะให้น้ำเกลือทางเส้นเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้คุณแม่ขาดสารน้ำและอาหาร คุณแม่จะได้มีแรงเบ่งคลอด
    - ถ้ายังไม่มีน้ำเดิน สามารถเดินได้ แต่ถ้ามีน้ำเดินแล้ว ควรนั่งหรือนอนพักบนเตียง เพราะอาจมีสายสะดือย้อยได้ การนอนควรนอนตะแคงซ้ายจะทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกในครรภ์ดีขึ้น
    - ถ้าเจ็บครรภ์มากให้ปฏิบัติตนเพื่อลดการเจ็บปวดด้วยวิธีธรรมชาติ เพื่อช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวดลดลงและสามารถควบคุมตนเองได้ หรือแพทย์อาจให้ฉีดยาแก้ปวด
    - น้ำเดิน ลักษณะเป็นน้ำอุ่นๆ ออกทางช่องคลอดคล้ายปัสสาวะ เจ็บครรภ์มากหรืออยากเบ่ง ให้แจ้งเจ้าหน้าที่
    - แพทย์อาจเจาะถุงน้ำคร่ำเพื่อกระตุ้นให้เจ็บท้องถี่ขึ้น ขณะเจาะน้ำคร่ำคุณแม่จะรู้สึกมีน้ำอุ่นๆ ซึมออกจากช่องคลอด

    ระยะการคลอด
    เมื่อคุณแม่เข้าห้องรอคลอดแล้ว คงอยากทราบว่าจะต้องรอนานเท่าไรจึงจะคลอดได้ ซึ่งโดยปกติแล้วระยะการคลอดจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ

    ระยะเจ็บครรภ์จริง (First stage of labour) จะเริ่มตั้งแต่เจ็บครรภ์จริง ๆ เมื่อปากมดลูกเริ่มขยายจนกระทั่งปากมดลูกขยายเต็มที่ พร้อมให้คุณแม่เบ่งคลอดได้ (ปากมดลูกเปิดเต็มที่ หมายถึง ปากมดลูกซึ่งเดิมกว้างไม่ถึง 1 เซนติเมตรขยายกว้างพอที่หัวลูกจะผ่านออกมาได้ โดยปกติจะมีความกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร) ในระยะนี้เป็นระยะที่คุณแม่จะต้องนอนรออยู่ในห้องรอคลอด ซึ่งจะใช้เวลารวม ๆ กันแล้วประมาณ 12-18 ชั่วโมง และในท้องหลังจะใช้เวลา 8-12 ชั่วโมง โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง คือ
    - ช่วงแรก หรือ ระยะเฉื่อย (Latent phase) ตั้งแต่ปากมดลูกเริ่มเปิดหรือเริ่มเจ็บครรภ์จริงไปจนปากมดลูกเปิด 3-4 เซนติเมตร ในช่วงนี้คุณแม่จะมีอาการเจ็บไม่มาก ในท้องแรกอาจใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง และในท้องหลังจะใช้เวลา 6-8 ชั่วโมง
    - ช่วงที่สอง หรือ ระยะเร่ง (Active phase) จะเป็นช่วงที่มดลูกหดรัดตัวถี่ขึ้น ถุงน้ำคร่ำมักจะแตกในระยะนี้ถ้าคุณแม่ไม่มีน้ำเดินมาก่อน แต่ในบางรายแพทย์มักใช้เครื่องมือช่วยเจาะถุงน้ำคร่ำเพื่อให้การคลอดดำเนินไปได้ด้วยดี มดลูกจะหดรัดตัวถี่ แรง และนานขึ้น คุณแม่จะรู้สึกเจ็บท้องมากจนกระทั่งปากมดลูกเปิดหมด ถ้าเป็นคุณแม่ท้องแรกจะใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง แต่ในท้องหลังจะใช้เวลา 2-4 ชั่วโมง (ในระยะนี้คุณแม่หลายคนอาจรู้สึกอยากเบ่งคลอด แต่ถ้าเบ่งแล้วรู้สึกเจ็บ แสดงว่าปากมดลูกยังขยายไม่เต็มที่ ต้องรอให้แพทย์ดูว่าปากมดลูกเปิดแล้วถึงจะเบ่งได้)

    ระยะเบ่งคลอด (Second stage of labour) จะเริ่มตั้งแต่ปากมดลูกเปิดหมดและคุณแม่เริ่มเบ่งคลอดจนกระทั่งคลอดลูกน้อยออกมา หมอและพยาบาลจะย้ายคุณแม่จากห้องรอคลอดเข้ามาอยู่ในห้องคลอด ในคุณแม่ท้องแรกจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที (ไม่เกิน 60 นาที) ถ้าเบ่งนานเกิน 60 นาทีถือว่าเบ่งนานผิดปกติ หมอมักพิจารณาให้การช่วยเหลือการคลอด ส่วนในคุณแม่ท้องหลังจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที (ไม่เกิน 30 นาที)

    ระยะคลอดรก (Third stage of labour) จะเริ่มตั้งแต่ลูกน้อยคลอดออกมาจนกระทั่งรกคลอด ซึ่งจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แต่ถ้าเกิน 30 นาทีจะต้องช่วยโดยการล้วงรก

    ระยะสังเกตอาการหลังคลอด จะเริ่มตั้งแต่รกคลอดไปเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เป็นระยะที่หมอหรือพยาบาลจะเย็บซ่อมฝีเย็บให้เรียบร้อยและดูแลคุณแม่อย่างใกล้ชิดในห้องสังเกตอาการหลังคลอด เพื่อดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่เพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที เช่น มีการตกเลือดหลังคลอด

     สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม :
    02-481-5555​ ต่อ 2800 แผนกสูตินรีเวช

บทความโดย

พญ.สิริพัฒน์   ปรีชาสนองกิจ
พญ.สิริพัฒน์ ปรีชาสนองกิจ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา


บทความน่ารู้

CO2 Laser

CO2 Laser

เลเซอร์ชนิดคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Laser) เป็นการนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาเป็นตัวกลางในการทำให้เกิดแสงเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่นที่ 10,600 nm