กระดูกพรุนระยะแรกไม่มีอาการ..!!

กระดูกพรุนระยะแรกไม่มีอาการ..!!

31/01/2566 09:47:33 | Views: 3,782

โรคกระดูกพรุนคือภาวะที่กระดูกมีมวลกระดูกต่ำลงรวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของกระดูกทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลงจนกระทั่งเสี่ยงต่อกระดูกหักได้แม้ได้รับการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยหรืออาจจะถึงขนาดที่ไม่สามารถรับน้ำหนักของตัวเองได้

สาเหตุของการเกิดโรค
แบ่งออกได้เป็น
1. กระดูกพรุนชนิดปฐมภูมิ หรือการเกิดกระดูกพรุนจากความชรา หรือการเสื่อมของร่างกาย ซึ่งเป็นกลไกตามธรรมชาติ หรือกรรมพันธุ์ ที่เซลล์ในการสร้างกระดูกจะทำงานได้น้อยลง หรือจากการที่ร่างกายของเพศหญิงที่ขาดฮอร์โมนจากรังไข่ ทำให้ขาดการกระตุ้นการทำงานของเซลล์กระดูก ทำให้กระดูกพรุนมากขึ้นตามวัย

2. กระดูกพรุนชนิดทุติยภูมิ หรือการที่มีสาเหตุจากปัจจัยอื่นที่ทำให้ร่างกายมีดารสลายกระดูกเพิ่มขึ้น อาทิเช่น สาเหตุจากการใช้ยา โดยเฉพาะยาสเตียรอยด์ การที่ร่างกายไม่ได้ใช้งาน ขาดแรงกระทำต่อกระดูก เช่นในกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง การสูบบุหรี่จัด ดื่มสุราเกินพอดี ภาวะทุพโภชนาการ โรคของต่อมไร้ท่อบางชนิดเป็นต้น

อาการของโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนอาจเรียกได้ว่าเป็นโรคที่เป็นภัยเงียบเพราะภาวะกระดูกพรุนอาจไม่แสดงอาการอะไรเลย จนกระทั่งคนไข้มีกระดูกหักแล้วจึงแสดงอาการปวด.คนไข้อาจจะพบว่ามีความสูงลดลง หลังค่อมมากขึ้น อาจจะมีอาการปวดหลังเกิดขึ้นได้หากมีภาวะกระดูกสันหลังหักยุบ. อาจพบคนไข้มาด้วยกระดูกหักทั้งๆที่ประสบกับอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงเช่นการล้มหรือแม้แต่การขยับเอี้ยวตัวผิดจังหวะก็อาจทำให้กระดูกหักได้เช่นกันในผู้ป่วยที่กระดูกพรุนรุนแรง.

เราจะสามารถรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนสามารถวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจด้วยเครื่อง Dual energy x-ray absorptiometry หรือ DXA ที่ตำแหน่งกระดูกสันหลังหรือสะโพก จะได้ทราบค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเทียบ หากค่าที่ได้ ต่ำกว่า -2.5 จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นกระดูกพรุนตามนิยามขององค์การอนามัยโลก ซึ่งการตรวจด้วยเครื่องนี้สามารถทำได้ง่าย ไม่เจ็บปวด ไม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ปลอดภัย. การตรวจด้วยวิธีอื่นๆเช่นการตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์ที่ ข้อมือ, เท้าหรือข้อเท้า ยังไม่ใช่วิธีที่ได้ค่าผลการตรวจเป็นมาตรฐานนัก

ข้อบ่งชี้ในการตรวจ
- ผู้หญิงอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปและผู้ชายอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป
- ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี
- ผู้ที่ได้รับยากลูโคติโคสเตอรอยด์ มากกว่า 5 mg ต่อวัน
- ผู้ที่มีประวัติสูบบุหรี่ดื่มสุราเป็นประจำ
- มีดัชนีมวลกายต่ำกว่า 20 กก.ต่อ ตร.ม.

มีอาการของกระดูกพรุนแล้ว เช่น มีประวัติกระดูกหักจากการบาดเจ็บไม่รุนแรง หลังค่อมมากขึ้น รวมถึงมีประวัติบิดามารดามีกระดูกพรุน กระดูกหักจากการบาดเจ็บไม่รุนแรง

การรักษา
การรักษาโรคกระดูกพรุนสามารถทำได้หลายทางทั้งการใช้ยาและไม่ใช้ยา รวมถึงการป้องกันอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ เพื่อป้องกันกระดูกหัก หากผู้ป่วยมีกระดูกพรุนที่รุนแรงสามารถให้การรักษาด้วยการใช้ยาเพื่อลดการทำลายกระดูก เช่นยากลุ่ม Bisphosphonate ร่วมกับการปฏิบัติตัว การดูแลโภชนาการให้ได้รับแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอโดยมีกลุ่มผู้สูงอายุแนะนำให้ได้รับแคลเซียม 1,000 มก.ต่อวันและวิตามินดี 600-800 หน่วยต่อวัน แหล่งที่สำคัญของแคลเซียมคืออาหารที่มีแคลเซียมสูง อาจได้จาก ผักใบเขียวเช่น คะน้า ชะพลู  ยอ อาหารชนิดปลาเล็ก กุ้งเล็ก ที่สามารถบริโภคได้ทั้งตัว ผลิตภัณฑ์นม อีกทั้งเรายังสามารถได้วิตามินดีจากแสงแดดอีกด้วย

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอช่วยให้กระดูกได้รับการกระตุ้นให้มีการสร้างกระดูกที่หนาและแข็งแรงขึ้นและงดการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา ลดปริมาณการบริโภคโซเดียม

ควรติดตามการรักษาและตรวจซ้ำใน 1-2 ปีหากไม่มีภาวะเสี่ยงต่อการกระดูกหักให้ตรวจติดตามผลที่ 2-5 ปี


บทความโดย

นพ.ปิยะ อัศวบุญญาเดช
นพ.ปิยะ อัศวบุญญาเดช

ศัลยแพทย์กระดูก-ข้อ /ออร์โธปิดิกส์และผู้เชี่ยวชาญทางเนื้องอกกระดูกและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน


บทความน่ารู้

Botulinum toxin

Botulinum toxin

Botulinum toxin คือ สารที่สร้างจากแบคทีเรียชื่อ Clostridium botulinum ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทด้วยการยับยั้งการหลั่งของสารสื่อประสาททำให้กล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้

การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก (Myomectomy)

การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก (Myomectomy)

การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้หญิงที่มีปัญหาจากเนื้องอกมดลูก เช่น มีเลือดออกมากผิดปกติ ปวดท้องมาก