รู้ไว้ไม่ผิด โรคร้ายที่ผู้หญิงต้องรู้

รู้ไว้ไม่ผิด โรคร้ายที่ผู้หญิงต้องรู้

21/11/2567 15:08:19 | Views: 6,761

ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วไม่ว่าอายุเท่าไรก็ตาม และผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน อายุ 35 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกปีละ 1 ครั้ง เพราะเป็นการตรวจเพื่อหาระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูกซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ 100%  รวมทั้งการตรวจควบคู่กับการอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างเพื่อตรวจดูรายละเอียดที่ตัวมดลูก และรังไข่ เช่น สามารถตรวจดูเนื้องอกที่มดลูก ถุงน้ำที่รังไข่ เป็นต้น เพราะถ้าตรวจภายในและเช็คมะเร็งปากมดลูกอย่างเดียวจะไม่เห็น

สาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก
สาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี หรือ HUMAN PAPPILOMA VIRUS (HPV) ซึ่งมี ประมาณ 100-200 สายพันธ์ุ แต่มีประมาณ 15 สายพันธ์ุที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะสายพันธ์ุที่มีความเสี่ยงสูงต่อมะเร็งปากมดลูกคือ 16 และ 18 เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูกประมาณ 70 % ของมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด

การติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ซึ่งมักจะติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ และนอกจากนั้น ยังสามารถติดต่อทางการสัมผัสได้ด้วย (แต่จะเป็นลักษณะเหมือนพาหะที่นำพาเชื้อไปสู่ช่องคลอดได้) ซึ่งเป็นที่มาว่าคนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็เป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ซึ่งเป็นที่มาว่าคนที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็เป็นมะเร็งปากมดลูกได้

โดยในสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว 80-90% จะเคยติดเชื้อไวรัสเอชพีวี แม้ว่าจะเป็นสามีภรรยาเพียงคู่เดียว คือทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กลับคนอื่นมาก่อนก็ตาม  ซึ่ง 90 % ของคนที่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวี จะหายเองโดยไม่มีอาการอะไร  เนื่องจากถ้าเป็นสายพันธ์ที่ความเสี่ยงต่ำ ร่างกายจะกำจัดเชื้อไปเองเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป  แต่ถ้าเป็นสายพันธ์ที่มีความเสี่ยงสูงก็จะใช้เวลา 10-15 ปี ในการพัฒนาไปเป็นมะเร็งปาดมดลูก จึงทำให้พบคนที่เป็นมะเร็งปากมดลูกตอนอายุ 30-40 ปีเป็นต้นไป

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก   
ผู้หญิงและผู้ชายทุกคนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี โดยเฉพาะคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว โดยมีปัจจัยเสี่ยงดังนี้

  1. อายุ เช่น เริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกอายุน้อย โอกาสรับเชื้อก็จะมากกว่า และนานกว่า
  2. จำนวนคู่นอน ยิ่งหลายคน ความเสี่ยงจะรับเชื้อยิ่งมากขึ้น
  3. ภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น การรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ การออกกำลังกาย การสูบบุหรี่  การนอนพักผ่อนที่เพียงพอ ความเครียด การมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือต้องใช้ยาเพื่อกดภูมิคุ้มกันในการรักษาโรคนั้น
  4. การตั้งครรภ์และมีลูกหลายคน
  5. สตรีที่แต่งงานกับผู้ชายที่เคยมีภรรยาเป็นมะเร็งปากมดลูก
  6. มีประวัติ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น กามโรค
  7. ในสตรีที่ไม่เคยมาตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หรือมาคัดกรองไม่สม่ำเสมอ

สัญญาณเตือนที่ต้องระวัง

  1. ตกขาวผิดปกติ เช่น มีกลิ่นเหม็นเน่า ปริมาณมาก
  2. เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เช่น ออกหลังมีเพศสัมพันธ์ ออกหลังจากอยู่ในช่วงวัยทอง ออกผิดปกติที่ไม่ใช่ประจำเดือนปกติ
  3. เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์
  4. ปวดท้องน้อย หรือปวดอุ้งเชิงกราน

การป้องกันมะเร็งปากมดลูก แบ่งเป็น 2 แบบ
1. การป้องกันแบบปฐมภูมิ คือหมายถึงการป้องกันก่อนการติดเชื้อไวรัส เอชพีวี นั่นเอง ก็คือการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ซึ่งมีมาประมาณ 20 กว่าปีแล้ว  ปัจจุบันมีอยู่ 3 ชนิด คือ

        1.1 ชนิดป้องกัน 2 สายพันธ์ คือป้องกันสายพันธ์ 16 และ 18  ซึ่งป้องกันได้ประมาณ 70%

        1.2 ชนิดป้องกัน 4 สายพันธ์ คือป้องกันสายพันธ์ 6,11,16,18  ซึ่งป้องกันได้ประมาณ 70%

        1.3 ชนิดป้องกัน 9 สายพันธ์ คือป้องกันสายพันธ์ 6,11,16,18,31,33,45,52,58  ซึ่งป้องกันได้ประมาณ 90%

โดยสามารถเริ่มฉีดได้ที่อายุ 9 ปี ทั้งหญิงและชาย โดยจะได้ประโยชน์สูงที่สุดคือฉีดก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก แต่ในคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้วก็สามารถฉีดได้เช่นกัน โดยส่วนใหญ่ ในคนที่มีเพศสัมพันธ์แล้วก่อนฉีดวัคซีน สูตินรีแพทย์มักจะแนะนำให้ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก่อนฉีด

2. การป้องกันแบบทุติยภูมิ ก็คือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก นั่นเอง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการตรวจคัดกรองหาระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูกซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ 100%

        โดยแนะนำสตรีที่มีเพศสัมพันธ์แล้วไม่ว่าจะอายุเท่าไร ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกปีละ 1 ครั้ง
และถ้าเป็นสตรีที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ อายุ 35 ปีชึ้นไปก็ควรตรวจปีละ 1 ครั้ง
ส่วนในผู้ชาย มีการคัดกรองเชื้อเอชพีวีโดยตรวจจากปัสสาวะเท่านั้น ยังไม่มีการคัดกรองที่อวัยวะเพศเหมือนในผู้หญิง  

        2.1 Conventional pap smear คือการตรวจวิธีดั้งเดิม คือใช้ไม้พายขนาดเล็กป้ายเซลจากปากมดลูกมาป้ายบนแผ่นสไลด์ ซึ่งจะเก็บเซลล์ได้แค่ 20 %  แล้วไปย้อมสี ตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์  ซึ่งประสิทธิภาพไม่ดี

        2.2 Liquid base pap test คือการใช้เครื่องมือที่มีขนาดเล็กลง คล้ายแปรงเพื่อการเก็บเซลล์ได้ดีขึ้น มากขึ้นแล้วนำมาแช่ในน้ำยารักษาสภาพเซลล์ แล้วนำไปผ่านเครื่องตรวจ ประสิทธิภาพดีขึ้น 70-80%

        2.3 Co-testing  คือการตรวจ Liquid base pap test + HPV DNA testing หรือคือการตรวจ pap test คู่กับการตรวจดูดีเอ็นเอของไวรัสเอชพีวี ซึ่งประสิทธิภาพจะเพิ่มเป็น 90-95 %   โดยถ้าตรวจ Co-testing  แล้ว และผลปกติ สามารถตรวจ HPV DNA testing  3 ปี/ครั้งได้

        2.4 Urine HPV คือการเก็บปัสสาวะเพื่อตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งเหมาะกับการคัดกรองเชื้อเอชพีวีในผู้ชาย และใช้คัดกรองในผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ที่กังวลต่อการตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกดังที่กล่าวมาแล้ววัตถุประสงค์ของการตรวจนี้เพื่อให้สตรีที่กลัว กล้ามาตรวจคัดกรองมากขึ้น แต่ประสิทธิภาพของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกก็ยังคงดีกว่า และไม่สามารถนำมาทดแทนกันได้ แนะนำมาพบและปรึกษาสูตินรีแพทย์จะดีที่สุด

 


บทความโดย

พญ.สิริพัฒน์   ปรีชาสนองกิจ
พญ.สิริพัฒน์ ปรีชาสนองกิจ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา


บทความน่ารู้

โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเข่าเสื่อม

เป็นภาวะเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อนที่ข้อเข่า มักพบในวัยกลางคนหรือผู้สูงอายุ แต่ในปัจจุบันสามารถพบในคนอายุน้อยมากขึ้นได้