วัคซีนเสริม จำเป็นหรือไม่

วัคซีนเสริม จำเป็นหรือไม่

15/07/2567 16:03:13 | Views: 1,000

วัคซีนนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต (PCV)
โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกกลุ่มอายุ   ส่วนใหญ่มักทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ หูชั้นกลาง อักเสบ หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ การติดเชื้อดังกล่าวอาจก่อให้เกิดโรครุนแรงและแพร่กระจายที่เรียกว่า Invasive Pneumococcal Disease หรือ IPD กลุ่มโรคนี้ ได้แก่ การติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และปอดอักเสบชนิดรุนแรง ซึ่งอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและมีโอกาสเกิดโรคแบบรุนแรง ได้แก่ เด็กเล็กโดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้น แนะนำฉีดวัคซีนป้องกันในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคชนิดรุนแรง และในเด็กแข็งแรงปกติที่อายุน้อยกว่า 5 ปี เพื่อลดการป่วยพิการ และเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว

ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ชนิดคอนจูเกต มี 2 แบบ คือ วัคซีนชนิด 10 สายพันธุ์ (PCV10) และ 13 สายพันธุ์ (PCV13) โดยให้ 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน และฉีดกระตุ้นที่อายุ 12-15 เดือน โดยห่างจากเข็มสุดท้ายอย่างน้อย 2 เดือน 
หากเริ่มฉีดช้า ให้ฉีดตามตาราง ดังนี้ 

ในเด็กกรณีเริ่มฉีดวัคซีน ไอพีดีชนิด Conjugate เช่น Prevnar (13) เข็มแรกที่อายุ :
• 2-6 เดือน ฉีด 4 เข็ม (3 เข็มแรกห่างกัน 2 เดือน + กระตุ้นเข็มที่ 4 อายุ 12-15 เดือน) หรือ (2,4,6,12-15 เดือน)
• 7 เดือน หรือน้อยกว่า 1ปี : ฉีด 3 เข็ม (1และ2 เข็ม ห่างกัน 2 เดือน ให้ฉีดกระตุ้น 1 เข็มในอายุ 12-15 เดือน)
• 1 ปี  หรือน้อยกว่า 2 ปี : ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 2 เดือน
• 2 ปี ขึ้นไป-ผู้ใหญ่ ฉีด 1 เข็ม

 
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่

โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากเชื้อไวรัส (Influenza Virus) มีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ A,B และ C แต่มีเพียงสายพันธุ์ A และ B ที่มีการระบาดโดยทั่วไป พบบ่อยในฤดูฝน (มิถุนายน-ตุลาคม) และฤดูหนาว (มกราคม-มีนาคม) ของทุกปี อาการของโรคจะมีตั้งแต่อาการเล็กน้อยไปจนถึงอาการที่รุนแรงและเสียชีวิตได้ ทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบน (จมูกและคอ) และอาจแพร่กระจายไปยังทางเดินหายใจส่วนล่าง (หลอดลมและปอด) อาการแสดงจะแตกต่างกันตามอายุ

โดยในกลุ่มเด็กโตและวัยรุ่นจะมีอาการของไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะในบริเวณหลัง ต้นแขน ต้นขา มีน้ำมูกใส คัดจมูก ไอแห้ง เจ็บคอ และเบื่ออาหาร ส่วนในเด็กเล็กจะมีไข้สูง ร่วมกับอาการทางระบบอื่น เช่น ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน และชักจากไข้สูง ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย ได้แก่ หูชั้นกลางอักเสบ ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ และปอดอักเสบ

ซึ่งภาวะแทรกซ้อนมักเกิดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย ได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปลายประสาทอักเสบ และสมองอักเสบ โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ หญิงมีครรภ์, เด็กเล็ก อายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี, บุคคลที่มีอายุ 65 ปี ขึ้นไป, ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง(ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หืด หัวใจ ไตวาย หลอดเลือดสมอง เบาหวาน ธาลัสซีเมีย มะเร็งที่อยู่ระหว่างได้รับเคมีบำบัด ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ติดเชื้อเอชไอวี) และผู้ที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร 

แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์ โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนก่อนเข้าฤดูที่มีการระบาด (ฤดูฝนและฤดูหนาว) และฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกันทุกปี เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับสูง และป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ที่ระบาดในแต่ละปี ควรฉีดวัคซีนในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปจนถึงผู้ใหญ่ โดยที่การให้ครั้งแรกในเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปี ให้ 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน 

วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส
โรคอีสุกอีใส เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา (Varicella virus) เป็นโรคติดต่อที่ระบาดแพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือตามชุมชนที่อยู่อาศัยทั่วไป และพบการระบาดได้ตลอดทั้งปี แต่มักจะระบาดในช่วงหน้าหนาว ติดต่อโดยผ่านทางลมหายใจ ไอ จาม การสัมผัสกับผู้ป่วยหรือใช้ของร่วมกัน สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย จะมีอาการไข้ ผื่นหลายระยะขึ้นบริเวณผิวหนัง และภาวะแทรกซ้อนมักพบใน ทารกแรกเกิด ผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยและรุนแรงคือ ติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง การติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ปอดอักเสบ  สมองอักเสบ เป็นต้น 

โรคอีสุกอีใสสามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยวัคซีน ภายหลังการให้วัคซีนอีสุกอีใสเมื่อครบ 2 เข็ม จะมีภูมิคุ้มกันสูงสุดร้อยละ 98 ต่อการติดเชื้ออีสุกอีใส และร้อยละ 99 ต่อภาวะรุนแรงของโรคอีสุกอีใส สามารถเริ่มให้ได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป แนะนำให้ฉีดเข็มแรกอายุ 12-18 เดือน และพิจารณาเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 18 เดือน-4ปี โดยต้องห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน ถ้าอายุมากกว่า 13 ปี ให้ฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน 

วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก
โรคมะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อฮิวแมนแป๊ปปิโลม่าไวรัส (Human papilloma virus HPV) หรืออีกชื่อหนึ่งว่าเชื้อเอชพีวี (HPV) ติดต่อผ่านมาทางการมีเพศสัมพันธ์และการสัมผัส ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อที่เนื้อเยื่อบุผิวบริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก นำไปสู่โรคต่างๆ ตามมา เช่น หูดหงอนไก่ และมะเร็งปากมดลูกซึ่งเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในหญิงไทย และทำให้มีผู้ป่วยเสียชีวิตเป็นจำนวนมากจากโรคนี้

การป้องกันการติดเชื้อ HPV ด้วยการฉีดวัคซีน
เป็นแนวทางการป้องกันโรคได้ดีที่สุด โดยควรฉีดตั้งแต่ยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์และร่างกายอยู่ในวัยที่สร้างภูมิคุ้มกันได้ดี แนะนำให้ฉีดในหญิงและชายอายุ 9 - 26 ปี ข้อมูลในเด็กผู้ชายนั้นสามารถป้องกันโรคหูดหงอนไก่ และมะเร็งทวารหนักได้ด้วย ในวัยรุ่นที่แข็งแรงดี หากฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี ให้ฉีดวัคซีนเพียง 2 ครั้ง ห่างจากเข็มแรก 6-12 เดือน จะมีประสิทธิภาพเทียบเท่าการฉีด 3 ครั้ง

วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ
ไวรัสตับอักเสบเอ คือ โรคที่มีการอักเสบของตับจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ (HAV) ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ผ่านการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อ การสัมผัสกับสิ่งสกปรกและอุจจาระที่ปนเปื้อนเชื้อ หรือผู้ที่ติดเชื้อ และจากการบริโภคน้ำหรืออาหารที่ผิดสุขอนามัย อาการแสดง ได้แก่ ไข้ คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องอืด ตัวเหลือง อ่อนเพลีย ซึ่งมีอาการตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงตับอักเสบรุนแรงมาก 
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป โดยฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6-12 เดือน

วัคซีนอีวี 71 
เป็นวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปาก มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Enterovirus หลายชนิด สายพันธุ์ที่พบบ่อยและแพร่ระบาดในปัจจุบันคือ Coxackievirus A16 ซึ่งส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง และสายพันธุ์ Enterovirus 71 (EV 71) ซึ่งเป็น สายพันธุ์ที่รุนแรง ทำให้เกิดอาการสมองอักเสบร่วมกับระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อ Enterovirus 71 (EV 71) (Enterovirus Type71 Vaccine) ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือน - น้อยกว่า 6 ปี ได้รับทั้งหมด 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน 

สาเหตุที่ต้องฉีด วัคซีนเสริม
การฉีดวัคซีนเสริมเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อลดความเจ็บป่วยต่อการเกิดโรคต่าง ๆ เด็กจะได้มีสุขภาพดี แข็งแรง สมบูรณ์ พร้อมที่จะเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ การรับวัคซีนเสริมในแต่ละชนิดนั้นควรฉีดเมื่ออยู่ในกลุ่มเสี่ยง โดยสามารถปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึงความเสี่ยงของเด็กว่ามีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด

การปฏิบัติตัวก่อนเข้ารับวัคซีน 
• ควรนำสมุดบันทึกวัคซีนมาด้วยทุกครั้ง
• ไม่ควรรับวัคซีนขณะมีไข้สูง หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน ยกเว้นเป็นหวัด ท้องเสียโดยไม่มีไข้สามารถรับวัคซีนได้
• หากเคยฉีดวัคซีนแล้วมีอาการแพ้ หรือมีประวัติแพ้ยา/แพ้อาหาร โดยเฉพาะในรายที่มีอาการแพ้แบบรุนแรง กรุณาแจ้งกุมารแพทย์ หรือพยาบาลก่อนฉีดวัคซีนทุกครั้ง

การปฏิบัติตัวเมื่อรับการฉีดวัคซีนเสริมแล้ว
หลังจากฉีดวัคซีนเสร็จแล้วควรพักสังเกตุอาการแพ้รุนแรง 30 นาที อาการ ปวด บวม แดง ร้อน บริเวณที่ฉีดอาจเกิดขึ้นได้ เด็กอาจร้องกวนงอแง ถ้ามีอาการบวม ให้ใช้เจลเย็นหรือผ้าเย็นประคบบริเวณที่บวมทันทีหรือภายใน 24 ชั่วโมง และรับประทานยาพาราเซตามอลร่วมด้วยตามคำแนะนำของแพทย์

อาการที่ต้องรีบมาพบแพทย์
หลังจากฉีดวัคซีนไป 2-3 วันแล้วยังมีอาการปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด มีไข้สูง คุณพ่อคุณแม่ควรพาเด็กไปพบแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษา


บทความน่ารู้

MIS-C ภาวะอักเสบทั่วร่างกายในเด็ก..อันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง

MIS-C ภาวะอักเสบทั่วร่างกายในเด็ก..อันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง

ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการของโรคโควิด-19 หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย อายุเฉลี่ยของเด็กที่พบอาการของโรคโควิด-19 หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย

กระดูกพรุนระยะแรกไม่มีอาการ..!!

กระดูกพรุนระยะแรกไม่มีอาการ..!!

ตรวจมวลกระดูก...เพื่อค้นหาความเสี่ยงของภาวะกระดูกพรุน