RSV ไวรัสร้ายที่คุณพ่อ คุณแม่ ต้องรู้จัก

RSV ไวรัสร้ายที่คุณพ่อ คุณแม่ ต้องรู้จัก

23/02/2567 14:17:59 | Views: 8,695

ในช่วงปลายฝนต้นหนาว โรคที่เป็นปัญหาสำคัญสำหรับลูกน้อยก็คือ “โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV”  ที่คุณพ่อคุณแม่คงเคยได้ยินกันบ่อยๆ ซึ่งเป็นโรคที่มีอาการคล้าย ไข้หวัด ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบได้

RSV คืออะไร

          RSV หรือ Respiratory Syncytial Virus เป็นเชื้อไวรัสซึ่งก่อให้เกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจได้ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง โดยมีการติดต่อจากคนสู่คนผ่านทางการสัมผัสสารคัดหลั่ง (น้ำมูก น้ำตา น้ำลาย เป็นต้น) และละอองฝอยขนาดใหญ่ (ระยะกระจาย น้อยกว่า 6 ฟุต) ที่ปนเปื้อนเชื้อ

          เชื้อโรคที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้บนพื้นผิวต่างๆได้นานหลายชั่วโมง และอยู่บนผิวหนังได้นานกว่า 30 นาที การติดเชื้อสามารถติดได้ทุกช่วงอายุ และสามารถติดเชื้อซ้ำได้ตลอดชีวิต

อาการของโรค

          เชื้อนี้มีระยะฟักตัวก่อนเกิดอาการได้ตั้งแต่ 2-8 วัน ส่วนใหญ่มีอาการในช่วง 4-6 วันหลังได้รับเชื้อการติดเชื้อนี้ทำให้เกิดอาการทางระบบหายใจในเด็ก ส่วนใหญ่มีอาการทางเดินหายใจส่วนบนเช่น ไอ น้ำมูก เจ็บคอ มีเสมหะ คล้ายหวัดทั่วไปซึ่งมักจะดีขึ้นภาย ใน 2-3 วัน

บางส่วน (20-30%) มีอาการทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลมฝอยอักเสบ (bronchiolitis) หรือ ปอดอักเสบ (pneumonia)

          ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงคือ ทารกคลอดก่อนกำหนด โรคปอดเรื้อรัง ภาวะหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ภาวะความดันในปอดสูง ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลต่อความรุนแรงของโรค เช่น เด็กน้ำหนักแรกคลอดน้อย มารดาสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ ได้รับควันบุหรี่มือสอง ภาวะภูมิแพ้ เป็นต้น

วิธีสังเกตอาการ

          อาการเริ่มต้นของการติดเชื้อ RSV มีอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป คือ มีไข้ ไอ มีน้ำมูก มีเสมหะ แต่ลักษณะเด่นของการติดเชื้อนี้คือ ปริมาณสมหะมาก และเสมหะมีลักษณะเหนียว ดังนั้นอาจะทำให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะเด็กเล็ก หายใจลำบาก หายใจครืดคราด หากอาการรุนแรงอาจพบการหายใจเหนื่อยหอบ หน้าอกบุ๋ม หายใจมีเสียงหวีด ซึ่งเป็นลักษณะของภาวะหลอดลมตีบหรือหลอดลมฝอยอักเสบได้

ดังนั้นอาการที่ควรพาผู้ป่วยมาพบแพทย์คือ

  • ไข้สูงหรือดูซึมลง
  • หายใจครืดคราด กระสับกระส่าย
  • หายใจหอบเหนื่อย อกบุ๋ม
  • หายใจมีเสียงหวีด
  • กินได้น้อย ไม่เล่นไม่ร่าเริงเหมือนปกติ

แนวทางการรักษา

การติดเชื้อไวรัส RSV นี้ยังไม่มียารักษาจำเพาะ และเชื้อนี้เป็นเชื้อไวรัส การใช้ยาปฏิชีวนะจึงไม่มีประโยชน์ในการรักษา

          การรักษาหลักเป็นการรักษาตามอาการเพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นเช่น การให้ยาลดไข้ การเช็ดตัวหรืออาบน้ำเมื่อมีไข้ การให้ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ การให้ยาขยายหลอดลมเมื่อมีอาการหลอดลมตีบ การพ่นยา เคาะปอด และดูดเสมหะในเด็กที่มีเสมหะมากและขับเสมหะเองยังไม่ดี การให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดในเด็กที่ไม่สามารถกินได้เพียงพอ

การป้องกันโรค RSV

          เชื้อ RSV นี้ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ หากเคยติดเชื้อแล้วสามารถติดเชื้อช้ำอีกได้ทุกช่วงอายุ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อได้ 3-8 วัน หรือนานกว่านั้นในผู้ป่วยเด็กเล็กและผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดังนั้นหากตรวจพบว่าติดเชื้อ แนะนำให้หยุดเรียนอย่างน้อย 1 สัปดาห์หรือจนกว่าอาการจะหายสนิท

          ส่วนการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อนั้นทำได้ด้วยการล้างมือบ่อยๆโดยใช้น้ำและสบู่โดยเฉพาะก่อนสัมผัสใบหน้าและก่อนรับประทานอาหาร หลีกเสี่ยงไปในที่ที่มีผู้คนแออัด เช่น โรงเรียน เนอร์สเซอรี่ ห้างสรรพสินค้า ทำความสะอาดพื้นผิวในบ้านและของเล่นเป็นประจำ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่เพราะอาจทำให้อาการรุนแรงขึ้นขณะมีการติดเชื้อ


บทความโดย

นพ.ปัญญพันธุ์   ถิรประสิทธิ์พร
นพ.ปัญญพันธุ์ ถิรประสิทธิ์พร

กุมารแพทย์ทั่วไป


บทความน่ารู้

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม

โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม

เป็นภาวะที่สามารถพบได้ในผู้สูงอายุ ที่มีความเสื่อมเกิดขึ้นในร่างกายตามวัยที่สูงขึ้น แต่เชื่อหรือไม่ว่าอาการปวดหลังเรื้อรังนั้นพบมากขึ้นในทุกช่วงอายุ ตั้งแต่ 25 – 50 ปี